BTS ผนึกกนอ.บุกระยองลงทุนรถไฟฟ้ารับ”นิคมสมาร์ทปาร์ค”

อัปเดตล่าสุด 16 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 576 Reads   

กนอ.ผนึก 6 เอกชนรายใหญ่ ร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ 1,500 ไร่ ภาคตะวันออก สร้างเมืองสีเขียวรับ EEC มูลค่า 1.2 หมื่นล้าน ลุยระบบขนส่งมวลชน ไฟฟ้า ประปา พลังงาน ดึงนักลงทุน ไทย จีน ไต้หวัน ปั้นฮับภูมิภาคอาเซียน บีทีเอสบุกต่างจังหวัดครั้งแรกผุดรถแทรม ปลายปีลงเข็มเดินเครื่องปี 63

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีพื้นที่ 1,500.97 ไร่

ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 6 พันธมิตร ประกอบด้วย 1.บจ.พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ ศึกษาความเป็นไปได้ด้านโลจิสติกส์เพื่อตั้งศูนย์กระจายสินค้า รองรับการขยายธุรกิจและใช้เทคโนโลยีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2. บมจ.บีซีพีจี บริหารจัดการเรื่องความต้องการด้านการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน  3. บจ.โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส บริหารจัดการระบบสาธารณูประโภค  4. บจ.บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิต  5.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สนับสนุนและส่งเสริมนักลงทุนเข้ามาร่วมประกอบกิจการในพื้นที่ของโครงการ และ 6. บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) พัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในโครงการ

“กนอ.จะเป็นผู้จัดหาพื้นที่และลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2,000 ล้านบาท ด้านผู้ร่วมลงทุนทั้ง 6 บริษัท จะลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ทั้งโครงการคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท”

ภายในพื้นที่นิคม 1,500 ไร่ แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 723.78 ไร่ พาณิชยกรรม 147.18 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค 393.50 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 236.51 ไร่ ซึ่งทำเลที่ตั้งถือว่ามีศักยภาพ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 154 กม. สนามบินสุวรรณภูมิ 130 กม. สนามบินอู่ตะเภา 17 กม. ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 54 กม. และมาบตาพุด 2.5 กม.

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้แบ่งพัฒนาพื้นที่นิคมสมาร์ทปาร์คในรูปแบบคลัสเตอร์ ให้เกิดความคล่องตัวในการเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรม พร้อมกำหนด 9 ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อน ได้แก่ 1.ที่ตั้งอัจฉริยะ 2.ธุรกิจอัจฉริยะและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

3. สิ่งก่อสร้างประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.ระบบความปลอดภัย 5.ด้านไลฟ์สไตล์ทุกรูปแบบ 6.ด้านสัญจรคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 7.การเชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเทอร์เน็ต 8.ด้านสาธารณูปโภค และ 9.เมืองสีเขียว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. BTSC เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ มีประสบการณ์เดินรถรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ทั้งบีทีเอสและส่วนต่อขยายสายสีเขียวหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จ.ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่อีอีซีตามนโยบายของรัฐบาล บริษัทจะร่วมพัฒนาระบบขนส่งภายในโครงการเพื่อบริการในพื้นที่รองรับประชาชน ลูกค้า ผู้ประกอบการ เพื่อลดการใช้รถยนต์ โดยมีระยะทางประมาณ 4 กม. และจะเป็นระบบที่สามารถจุคนได้ 8,000 เที่ยวคันต่อชั่วโมง ส่วนจะเป็นระบบไหน เช่น โมโนเรล รถแทรม หรือรถบัส อยู่ระหว่างการศึกษา จะสรุปในเร็ว ๆ นี้” นายสุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย