เดินเครื่อง "ชินคันเซ็น" ในอินเดีย ญี่ปุ่นหวังทำแต้มต่ออีก 6 โปรเจ็กต์

อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 2561
  • Share :
  • 509 Reads   

ต่อเนื่องความชื่นมื่นระหว่าง "ญี่ปุ่นและอินเดีย" หลังจากที่นายกรัฐมนตรี "นเรนทรา โมดี" ของอินเดีย และนายกรัฐมนตรี "ชินโซะ อาเบะ" ของญี่ปุ่นได้ลงนามการพัฒนาโครงการรถไฟหัวกระสุน หรือ "ชินคันเซ็น" ในอินเดียร่วมกันในปี 2017 ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลอินเดียในการปรับภาพลักษณ์ประเทศภายใต้แนวคิด "นิว อินเดีย"  

ล่าสุดโครงการรถไฟหัวกระสุน หรือ "ชินคันเซ็น" สายแรกในเอเชียใต้ระยะทางราว 508.55 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง "มุมไบ" สู่ "รัฐคุชราต" เริ่มเดินเครื่องเปิดประมูลหาซัพพลายเออร์ส่วนต่าง ๆ โดยคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการจะสามารถย่นระยะเวลาเดินทางจาก7.5 ชม. เหลือเพียง 2 ชม.เท่านั้น

บลูมเบิร์กรายงานว่า สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโครงการมีมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านเยน หรือราว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทางการญี่ปุ่นเสนอให้เงินกู้จำนวน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 80% ของมูลค่าโครงการ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% เป็นระยะเวลา 50 ปี โครงการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มขึ้นในปีนี้ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2023

นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานความคืบหน้าว่า ขั้นตอนของโครงการก่อสร้างรถไฟฯ กำลังเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มบริษัทของญี่ปุ่นจะเป็นผู้ก่อสร้างและจัดหาส่วนประกอบหลักของโครงการรถไฟฯราว 70% และอีก 30% เป็นบริษัทของอินเดีย โดยที่มีแนวโน้มว่า "ฮิตาชิ" จะเข้ามาเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดของโครงการ "ฮิโรเอกิ นะกะนิชิ" ประธานบริหารของบริษัท "ฮิตาชิ" กล่าวว่า หากฮิตาชิได้มีโอกาสเข้ามาเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในโครงการรถไฟหัวกระสุนสายแรกในอินเดีย นับว่าเป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีที่สุดของบริษัทในการขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทก็มีแผนเพิ่มยอดขายในภูมิภาคเอเชียใต้ให้มากขึ้นเป็น 2 เท่า รวมถึงเล็งหาโอกาสในการลงทุนการผลิตรถยนต์ร่วมกับบริษัทอินเดียในอนาคต

สำหรับบริษัทอินเดียที่จะเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหลักคือ บริษัท BEML เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่สำหรับรถไฟใต้ดินในอินเดียด้วย ทั้งนี้ตัวแทนจาก BEML กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า "ความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น จะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ และอาจนำไปสู่ความร่วมมือทางการผลิตโดยให้อินเดียเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตที่สำคัญในอนาคตได้"

นอกจากนี้รายงานข่าวระบุว่า ยังมีบริษัทญี่ปุ่นอีกหลายแห่งจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟหัวกระสุนนี้ด้วย ได้แก่ คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรี้ส์ ซึ่งมีโอกาสว่าจะได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดหาเบาะที่นั่งในขบวนรถไฟทั้งหมด ขณะที่ มิตซูบิชิ อิเล็กทริกส์, นิปปอน สตีล &ซูมิโตโม เมทัล คอร์ปอเรชัน และโตชิบา จะเข้าไปร่วมประมูลจัดหาชิ้นส่วนอื่น ๆ ของโครงการ

นักวิเคราะห์ระบุว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศแรกที่พยายามเข้ามานำเสนอโครงการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย แต่การที่รัฐบาลอินเดียตัดสินใจผูกมิตรลงเรือลำเดียวกับญี่ปุ่น เพราะอินเดียมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมลงทุนกับบริษัทญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยต้องการเน้นไปที่การลงทุนเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตชิ้นส่วนในอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นเช่นกัน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงในฐานผลิตใหม่ ๆ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การที่ทางการญี่ปุ่นแสดงความเชื่อมั่นในการลงทุนโครงการรถไฟชินคันเซ็นในอินเดีย ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของคนอินเดียที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีศักยภาพทางด้านภูมิศาสตร์เป็นประเทศที่มีเครือข่ายเส้นทางรถไฟทั่วทั้งประเทศยาวเป็นอันดับ 4 ของโลก (65,000 กม.) ทั้งยังมีการเชื่อมโยงสถานีต่าง ๆ กว่า 7,500 สถานีทั่วประเทศ

สิ่งที่น่าดึงดูดมากที่สุด ก็คือ อินเดียมีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งครองแชมป์มานานหลายปี  ซึ่งปี 2017 มีผลวิจัยระบุว่าในอินเดียมีผู้โดยสารใช้รถไฟในการเดินทางเฉลี่ยปีละ 8,000 ล้านคน ขณะที่ประเทศจีนตามมาเป็นอันดับที่ 2 อยู่ที่ 2,080 ล้านคน

โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า "ศักยภาพของอินเดียนั้นเปี่ยมล้น แม้การลงทุนในโครงการรถไฟชินคันเซ็นจะเป็นมูลค่าที่สูง แต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ยิ่งขณะนี้รัฐบาลอินเดียมีแผนพัฒนาและยกระดับรถไฟอินเดียให้เป็นรถไฟความเร็วสูงอีก 6 โปรเจ็กต์ ซึ่งหากโครงการนำร่องสายนี้สำเร็จ เป็นไปได้ที่จะเห็นญี่ปุ่นได้รับโอกาสร่วมพัฒนาในแผนของรัฐบาลอินเดียอย่างต่อเนื่อง"