"ยูนิคัล" ยื่นBOIลงทุนUnibot รุกผลิต"แขนกล6แกน" กว่า 2,000 ตัวลุยตลาด

อัปเดตล่าสุด 15 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 693 Reads   

นายพชระ โง้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด (UNiCAL) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนดำเนินงานปี 2561 ว่าภายในเดือน ม.ค.นี้ เตรียมยื่นแผนขยายการลงทุน "Unibot" จากไลน์การผลิตเดิมรุ่นตัวต้นแบบ (phototype) ไปสู่แขนกล 6 แกน (articulated robot) สำหรับอุตสาหกรรมรายแรกที่ผลิตโดยคนไทย และวางแผนทำตลาดจำหน่ายภายในประเทศ โดยเริ่มทำตลาดกลุ่มสินค้าตัวใหม่แบบ mass produce คาดว่าจะใช้เงินลงทุนลอตแรก 100 ล้านบาท ในการจัดหาเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต(tolling) ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1,000 ตัว/ปี และในปี 2562 จะเพิ่มการผลิตเป็น 2,000 ตัว/ปี

"กลยุทธ์การทำตลาดเรามีคอนเซ็ปต์ว่า ทุกโรงงานต้องมีแขนกล 6 แกนตัวนี้ เหมือนอย่างตู้เย็นที่ทุกบ้านต้องมี โดยราคาขายแขนกล 6 แกน ประมาณ 300,000-400,000 บาท/ตัว เรายัง

ไม่สามารถวางระบบให้ได้แบบครบวงจรทั้งหมด เพราะหุ่นยนต์มีหลายขนาดหลายความสามารถ แต่ในตลาดจะมีบริษัทรวมระบบ system integration (SI) เข้ามาให้บริการเรื่องการวางระบบผู้ประกอบการอยู่แล้ว ทั้งวางระบบสื่อสารกับเครื่องจักร การนำเอาหุ่นยนต์มาประยุกต์ทำงานจริง"

การผลิตแขนกล 6 แกน ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งการลงทุนครั้งนี้บริษัทได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) ที่ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี สูงสุด 13 ปี และยังอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะได้ลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี

ปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตของโรงงานในไทยยังมีไม่มาก และเทรนด์การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีความต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต จึงเป็นโอกาสที่จะลงทุนเพื่อทดแทนแรงงาน และยังเป็นการลดต้นทุน อาทิ โรงงานที่ต้องอาศัยการผลิตที่ใช้การหยิบจับอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศให้มีศักยภาพ บวกกับมาตรการที่ออกมาสนับสนุน ส่งผลให้นักลงทุนตื่นตัวและสนใจที่จะลงทุนมากขึ้น

"อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เติบโตขึ้น เพื่อมาทดแทนแรงงาน อย่างตอนแรงงานกัมพูชากลับประเทศ เรารู้ว่ากระทบและเดือดร้อนมาก ปีนี้ที่เราเริ่มขยายตัวแขนกลนี้ เพราะประชากรหุ่นยนต์ในอนาคตจะต้องเข้ามาทำงานแทนที่แรงงานมากขึ้น เพราะงานบางประเภทคนอาจไม่อยากทำแล้ว หรือทำแล้วต้นทุนสูง จึงต้องนำหุ่นยนต์มาแทนที่ งานที่ทำซ้ำ ๆ งานที่เสี่ยงอันตราย การใช้หุ่นยนต์จึงเหมาะกว่า ตอนนี้ผู้ผลิตที่ต้องการใช้หุ่นยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หากเทียบจากเมื่อก่อนหุ่นยนต์มีราคาแพง แต่ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ราคาหุ่นยนต์ถูกลง ทำให้จำนวนประชากรหุ่นยนต์เพิ่ม ซึ่งบริษัททำเป็นหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม ไม่เน้นหุ่นยนต์บริการ"

สำหรับปัจจัยการพิจารณาเพื่อลงทุนผู้ประกอบการจะมีเกณฑ์ คือ 1.ผลตอบแทนจากการลงทุน 2.คุณภาพสินค้า 3.แรงงานพอหรือไม่ 4.ความคุ้มค่า/ต้นทุนต่อคน

ปัจจุบันผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสนใจใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ดังนั้นรัฐเองยังจำเป็นต้องให้ความรู้ และต้องบริหารจัดการกับแรงงานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งมีแนวทางออก เช่น งานที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ อย่างงานที่ต้องใช้สายตาแยกสินค้าเฉพาะ งานที่ต้องใช้ทักษะ ดังนั้น หุ่นยนต์จึงเหมาะมาแทนแรงงานใช้กำลังมากกว่าใช้ทักษะ

ทั้งนี้ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย 100% ที่ลงทุนในประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ปี 1999 ดำเนินธุรกิจกว่า 20 ปี เป็นผู้ผลิตและออกแบบระบบอัตโนมัติ (automation) บริการงานด้านระบบอัตโนมัติอุปกรณ์ในการนำเจาะหรือแมชีน และเครื่องมือจับยึดชิ้นงาน เพื่อสนับสนุนป้อนให้กับอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ในขณะที่บริษัท พาโช่ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรให้กับคู่ค้า และผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับตัวบริษัทยูนิคัลฯ สำหรับเครื่องจักรอัตโนมัติเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 จะซัพพอร์ตงานให้กันและจำหน่ายสู่ภาคอุตสาหกรรม