กนอ. เทงบ 5 ปี 60,000 ล้านบาท ดันนิคมไทยสู่ Smart City ยุค 5G ขึ้น top 3 ในอาเซียน

กนอ. ทุ่ม 1,200 ล้าน อัพเกรดนิคมสู่ยุค 5จี “สมาร์ทซิตี้”

อัปเดตล่าสุด 19 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 560 Reads   

เอกชนขานรับแผน กนอ. เทเงินลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท อัพเกรดนิคมไทยสู่ smart city ยุค 5G ขีดเส้นภายใน 5 ปีทั้งประเทศ เตรียมรับอุตสาหกรรม new S-curve สตาร์ตต้นแบบ 5 แห่ง “มาบตาพุด แหลมฉบัง บางปู ลาดกระบัง ภาคเหนือ” ปักธงเป็น top 3 ในอาเซียน

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา เปิดเผยถึงแผน 5 ปี (2564-2568) ว่า ได้มีการปรับยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่แข่งขันสูงมากในอาเซียน โดยปี 2564 เตรียมเงินลงทุนไว้ 1,200 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 800 ล้านบาท

เป้าหมายเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) เป็นการแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาค โดยใช้นวัตกรรมระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยีระบบ 5G เข้ามาช่วย

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา

อัฐพล จิรวัฒน์จรรยา

“เงินลงทุนเราเพิ่มเพราะมีหลายโครงการที่ต้องทำ ส่วนเงินลงทุน 5 ปีประมาณ 60,000 ล้านบาท จะมีโครงการใหญ่ ๆ ที่จะเกิดด้วย อย่างท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ตอนนี้เป็นระยะแรกที่ใช้เงินไปแล้ว ประมาณ 40 ล้านบาท อันนี้เป็นงบฯปี 2563 ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค ที่จะเปิดปี 2564 อีกประมาณ 800 ล้านบาท ลงทุนด้านดิจิทัล 200 ล้านบาท และจะพัฒนาบุคลากรอื่น ๆ อีกที่เหลือ 200 ล้านบาท ส่วนนี้คืองบฯลงทุนปีหน้า 1,200 ล้านบาท”

โดยมีเป้าหมายให้อยู่อันดับ top 3 ของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอันดับ 1 คือ สิงคโปร์ อันดับ 2 มาเลเซีย อันดับ 3 ไทยและเวียดนาม และยังมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างฟิลิปปินส์ ตามแผนดังกล่าวจะให้นำร่องนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ

“ช่วงที่เกิดโควิด-19 มีผลทำให้เกิดการลงทุนชะงัก การค้าเทรดวอร์ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐก็ต้องจับตามอง เพราะนโยบายจะมีผลต่อประชาคมโลก แต่เราดีที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค. เรื่อยมาจนไตรมาส 3 อุตสาหกรรมดีขึ้น เห็นได้จากการใช้ไฟฟ้า น้ำ”

สำหรับภาพรวมของทิศทางการลงทุนนับจากนี้ ผู้ประกอบการจะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี จะเห็นการเกิดขึ้นชัดเจนในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติ ญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นศักยภาพของไทย ขณะเดียวกัน จีนก็ใช้โอกาสนี้ลงทุนไทยเช่นกัน หลังจากเกิดปัญหาสงครามการค้าและการคว่ำบาตรจากสหรัฐโดยพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังคงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นที่สนใจเช่นเดิม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานพร้อม

ส่วนการรองรับนักลงทุนของไทย ภายใน 2 เดือนนี้จะมีอีก 3 แห่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน 1,900 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง 650 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนองใหญ่ 2,000 ไร่ที่จะรับนักลงทุนในช่วงปลายปี 2563 นี้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะมีการจ้างงานถึง 60,000 คน และที่สำคัญ ยังเป็นนิคมที่จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ new S-curve เป็นหลัก โดยนิคมต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่นี้จะสร้างมูลค่าการลงทุนต่อเนื่องถึงล้านล้านบาท

“หลังจากที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเช้าวันที่ 15 ต.ค.2563 ก็ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าจากนี้จะมีผลอย่างไร เพราะมันเร็วเกินไปที่จะบอกว่ากระทบมากขนาดไหน แต่เชื่อว่าเรื่องของการเมืองที่เกิดขึ้น ขณะนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นแต่หากถามถึงความเชื่อมั่นต่อภาพรวมการลงทุนแล้วนั้น ด้วยนักลงทุนเองลงทุนในไทยมานาน ได้เคยผ่านเหตุการณ์อื่น ๆ มาแล้ว สุดท้ายมันก็ไม่ได้กระทบอะไร เพราะแผนการลงทุนมันถูกวางไว้ระยะยาว”

นายอัฐพลกล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้จะไม่กระทบแผนยุทธศาสตร์ กนอ. แต่จะยิ่งกลับทำให้ กนอ. รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอกชนต้องพัฒนาตนเอง เพื่อรอรับการลงทุนที่จะเข้ามาโดยเฉพาะจากต่างประเทศที่ยังเป็นการลงทุนหลักในอุตสาหกรรมใหม่ ๆเพื่อให้ไทยเป็นผู้นำ top 3 ในอาเซียนให้ได้

สำหรับโครงการรองรับแผนยุทธศาสตร์ภายใต้งบประมาณ 1,200 ล้านบาทปี 2564 ใน 42 โครงการ 5 แผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์/บริการ/ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้องค์กร 12 โครงการ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาและบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน 13 โครงการ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับระบบการกำกับดูแลองค์กรสู่มาตรฐานสากล 1 โครงการ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศักยภาพขององค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 9 โครงการ

และยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของลูกค้าและนักลงทุน 7 โครงการ

โดย กนอ.มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้บริบทของความยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของคุณธรรมและความโปร่งใส

 

อ่านต่อ: