แบตฯ 'ลิเธียมไอออน' โอกาสประเทศไทย

อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 797 Reads   

รางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 2019 ที่มอบให้ แก่นักวิทยาศาสตร์สามคนที่พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียม ได้แก่ John B.Goodenough, M.Stanley Whittingham และ Akira Yoshino  เป็นเสมือนตรารับรองความสำคัญของการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ราชบัณฑิตยสถานด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนให้เหตุผลว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้ปฏิวัติชีวิตของมนุษย์และเป็นฐานรากของสังคมที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งนี้เพราะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีน้ำหนักเบา และทรงพลัง สามารถสนับสนุนการใช้งานแบบไร้สาย ได้หลากหลาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป  รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการจัดเก็บไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างลมและแสงอาทิตย์  
 
อุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งาน ในรถยนต์ไฟฟ้าและสาขาพลังงาน หน่วยงานวิจัยของสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า ในปี 2040  มูลค่าตลาดแบตเตอรี่โดยรวมจะอยู่ที่ ประมาณ 2 แสนล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.5 หมื่นล้านยูโรในปัจจุบัน

การเติบโตดังกล่าวทำให้ผู้เล่นรายใหม่ ๆ อยากเข้ามาผลิตแบตเตอรี่ ทั้งกลุ่มที่ข้ามมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้ผลิตหน้าใหม่จากสหรัฐ เยอรมนี และประเทศกำลังพัฒนาแถวหน้ารวมถึงไทย

ไทยเริ่มต้นผลิตแบตเตอรี่สำหรับขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2562 ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ไทยมีอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศอยู่แล้ว รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการลงทุนแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือถ้าผู้ผลิตรถยนต์อยากได้สิทธิประโยชน์สนับสนุน โดยเฉพาะส่วนลดภาษีสรรพสามิต ก็ต้องพ่วงการผลิตแบตเตอรี่มาด้วย ซึ่งมูลค่าโครงการลงทุนแบบแพ็คเกจทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท (ยอดสะสม ถึง ธ.ค. พ.ศ. 2561)

การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจะช่วยรักษาขีดความสามารถของไทยในการแข่งขันกับฐานการผลิตรถยนต์อื่นๆ เนื่องจากในอนาคตแบตเตอรี่จะเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ในฐานะส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดของการผลิตรถยนต์

นอกจากนี้ แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานในโครงข่ายไฟฟ้า ยังจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งระบบการผลิตไฟฟ้าแบบเดิมและการเพิ่มส่วนร่วมของพลังงานทดแทนในระบบการผลิตไฟฟ้า โดยจะช่วยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าประหยัดต้นทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับช่วงพีค (peak shaving) รักษาเสถียรภาพ(frequency regulation) และช่วยให้พลังงานทดแทนที่มีความผันผวน (intermittency) สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่าย ไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพได้มากขึ้น

การผลิตแบตเตอรี่ในประเทศแทนการนำเข้าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ ภาคการผลิต แม้ว่าไทยจะไม่มีทรัพยากรต้นน้ำหรือแหล่งแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ แต่มูลค่าเพิ่มของการผลิตแบตเตอรี่สามารถเกิดขึ้นได้ในการผลิต ขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ งานศึกษาของ Clean Energy Manufacturing Analysis Center (CEMAC) พบว่า การผลิตเซลล์ และประกอบแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 60% ของมูลค่า ผลิตภัณฑ์

แต่ปัจจุบันการใช้งานแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าในไทย ยังไม่แพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็นเพียงโครงการนำร่องทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งทุกโครงการนำเข้าแบตเตอรี่มาจากต่างประเทศทั้งหมด

จึงไม่แปลกที่โครงการลงทุนเพื่อผลิตในประเทศมีอยู่เพียง 5 โครงการเท่านั้น ขนาดตลาดในประเทศที่ยังคงเล็กมาก เป็นเหตุผลสำคัญให้ผู้ผลิตบางรายหันมองไปที่ตลาดส่งออกในอาเซียน หรือไปเน้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก่อนโครงข่ายไฟฟ้า

งานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันการลงทุน ใช้งานแบตเตอรี่สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่การผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิต ไฟฟ้าเอกชน และผู้ใช้ไฟฟ้ายังไม่คุ้มค่า เนื่องจากผลตอบแทนจากการใช้งาน ยังน้อยกว่าต้นทุน

เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าให้เกิดขึ้นควรมีการส่งเสริมการใช้งานแบตเตอรี่สำหรับโครงข่ายไฟฟ้า โดยนโยบายภาครัฐสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจและหนุนเสริมกลไกตลาด ในส่วนของมาตรการระยะสั้น ควรให้การอุดหนุนชั่วคราวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานขนาดเล็ก (behindthe-meter) และลดอัตราการอุดหนุน ตามแนวโน้มของต้นทุนของเทคโนโลยี ซึ่งถูกลงเรื่อยๆ

ในส่วนของมาตรการระยะยาว ควรทบทวนอัตราการขายปลีกไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยตามช่วงเวลาที่แท้จริงมากขึ้น โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งพีคไฟฟ้าเปลี่ยนจากช่วงเวลากลางวันเป็นเวลากลางคืนแทน ในขณะเดียวกันควรพิจารณาทบทวน อัตราภาษีสรรพสามิตที่สอดคล้องกับ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดต้นทุนภาษีของแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่มี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแบตเตอรี่ตะกั่วแบบเดิมมาก เป็นต้น

เพื่อการส่งเสริมการผลิตและการใช้งานในประเทศ รัฐบาลควรพิจารณาให้สิทธิ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และการนำแบตเตอรี่ไปใช้งานร่วมกับระบบการใช้ และผลิตพลังงานอื่น (ESS integration) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าจากการผลิตแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว เป็นต้น

การผลิตและใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จึงสามารถเป็นโอกาสของทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคพลังงานของไทย หากได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : TDRI สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) www.tdri.or.th