117-คมนาคม-สร้างถนน-ยางพารา-แบริเออร์

"ศักดิ์สยาม" สั่งใช้ยางพาราทำ "แบริเออร์กันกระแทก-หุ้มเกาะกลาง-เสาหลักถนน" ดันดีมานด์พุ่ง 2 แสนตัน

อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 610 Reads   

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกรมเจ้าท่า (จท.) ทบทวนปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคมสำหรับโครงการก่อสร้างในปี 2563 โดยโครงการก่อสร้างถนนสายใหม่ประมาณ 2,000 กม. นอกจากจะใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนแล้ว ก็ให้ปรับเกาะกลางถนนที่จะสร้างให้ใช้แบริเออร์ที่หุ้มด้วยยางพาราแทนเกาะกลางหญ้า เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ทางด้วย
 
ทั้งนี้กระทรวงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เป็นประธาน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ เป็นกรรมการ

เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในงานก่อสร้างทาง ทางรถไฟ และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพารา เช่น วัสดุกั้นถนน เกาะกลางยางพารา เป็นต้น โดยสนับสนุนการใช้ยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคุล ซึ่งเป็นผู้ขายและผู้ผลิตโดยตรง

“สั่งการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ทำการศึกษาข้อมูลและแนวทางการนำยางพาราใช้ในงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยคำนวณปริมาณการใช้ยางพาราในงานต่างๆ เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้ จะเกิดรายได้ที่จะถึงมือเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางมากน้อยเพียงใด เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่ากระทรวงควรใช้ยางพาราในงานหรืออุปกรณ์ใดจึงจะเหมาะสม และต้นทุนการผลิตไม่สูงมากนัก สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และสร้างความปลอดภัยเพิ่มขึ้นได้ ให้เวลา 2 สัปดาห์ทำรายละเอียดมาเสนอที่ประชุมต่อไป”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นอกจากนี้ให้ศึกษาออกแบบแบริเออร์ยางพาราโดยใช้วัสดุอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อรองรับการชนที่วิ่งด้วยความเร็ว 120-150 กม./ชม. อาทิ ใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงเป็นโครงสร้าง เช่น คอนกรีต ลวดสลิง และใช้ยางพาราหุ้มภายนอกเสาหลักกิโลเมตรและเกาะกลางถนน นอกจากนี้ให้หาแนวทางเพิ่มอายุการใช้งานวัสดุที่มียางพาราเป็นส่วนผสมให้มากกว่า 2-3 ปี และหาวิธีการเพื่อให้การวางแบริเออร์ไม่ส่งผลกระทบต่อคนข้ามถนน ไม่เกิดปัญหารถตัดการจราจรกัน ให้ออกแบบจุดกลับรถที่เหมาะสมทั้งรถยนต์และรถขนาดใหญ่

“ขอเน้นย้ำว่าไม่ใช่เป็นการรื้อถอนแบริเออร์หรือเกาะกลางที่มีอยู่แล้ว แต่ให้พิจารณาปรับปรุงความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยใช้หลายวิธีการเพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน”

ในส่วนของการให้การรถไฟฯ ให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้แก้ปัญหาหินโรยทาง ที่ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาเพิ่มเติมว่าสามารถนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์กันเสียงบนทางพิเศษได้หรือไม่ โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณการร่วมกันในการศึกษาเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้ เพื่อช่วยเหลือเกษตร

โดยตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา จากเดิมที่ในปีงบประมาณ 2563 มีแผนการใช้ยางพารา จำนวน 52,368.61 ตัน คิดเป็นมูลค่า 628.41 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากในปีงบประมาณ 2562 มีปริมาณการใช้ยางพารา 34,313.35 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางพารา 411.76 ล้านบาท

โดยปี 2562 – 2563 ปริมาณน้ำยางพาราที่เพิ่มขึ้น 18,055.26 ตัน คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 216.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52.63% แยกเป็นกรมทางหลวง เพิ่มขึ้น 15.43% และกรมทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้น 128.36% ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานใช้ยางพารากับงานถนน อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ด้านกรมเจ้าท่านำยางพารามาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก ส่วนรถไฟนำยางพารามาใช้เป็นแผ่นปูทาง แผ่นยางรองรางรถไฟ แผ่นยางครอบหมอนคอนกรีตอัดแรงสำหรับรองใต้แผ่นปูทางผ่าน และ กทพ. เตรียมนำยางพารามาใช้กับเสาล้มลุก ถังเตือนหัวเกาะยางพารา และแบริเออร์ยางพาราที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง