ติดตามความตกลง FTA อียู-สิงคโปร์ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

อัปเดตล่าสุด 2 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 730 Reads   

FTA อียู-สิงคโปร์ ถือเป็นความตกลงด้านการค้าและการลงทุนฉบับแรกระหว่างอียูกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งผู้นําอียูและสิงคโปร์ ได้ประกาศเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2553 และบรรลุข้อตกลงในปี 2557 แต่เกิดความล่าช้าในการลงนามหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป ต้องยื่นร่างความตกลงให้ศาลยุติธรรมยุโรป (ECU) พิจารณาเกี่ยวกับเขตอํานาจ ซึ่งผลของคําตัดสินทําให้ต้องแยกความตกลงออกเป็น 2 ฉบับ ได้แก่ ด้านการค้า (FTA) และการคุ้มครองการลงทุน (IPA) และจัดการลงนามเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ทั้งนี้ ความตกลง FTA ได้รับการรับรอง (เทียบเท่าการให้สัตยาบัน) จากสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 และ 8 พฤศจิกายน 2562 ตามลําดับ ในขณะที่ความตกลง IPA ต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาของทุกประเทศสมาชิก (รวมถึงสภา ท้องถิ่นของบางประเทศสมาชิกที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ) ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลา 4-5 ปี
 
FTA อียู-สิงคโปร์ ถือเป็นความตกลงสมัยใหม่ที่มีรายละเอียดครอบคลุม (Comprehensive) ทั้งมาตรการด้านภาษีและที่มิใช่ภาษีและประเด็นอื่น ๆ เช่น การแข่งขันทางการค้า การบริการ การคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความร่วมมือด้านต่าง ๆ และประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (รวมมาตรฐานแรงงาน สิทธิ์ มนุษยชน และสิ่งแวดล้อม) จากมุมมองของอียูความตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งสร้างสภาวะที่เหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสสําหรับกิจการและธุรกิจในอียู ในการขยายการลงทุนและการค้าไปสู่สิงคโปร์ ทั้งนี้ คาดว่า FTA อียู-สิงคโปร์ และ อียู-เวียดนามจะเป็นต้นแบบของความตกลงที่อียูใช้เจรจากับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน และจะถูกตรวจสอบโดย Chief Enforcement Officer ซึ่งเป็นกลไกใหม่ของ DG Trade ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทําการตรวจสอบการปฏิบัติ ตามพันธกรณีต่างๆ ของความตกลงทางด้านการค้า
 
ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับ 14 ของอียู และเป็นคู่ค้าที่มีความสําคัญอันดับ 1 ในอาเซียน โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้าสินค้า 53.3 พันล้านยูโร และการค้าบริการกว่า 51 พันล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน เกือบ 1/3 ของการค้าระหว่างอียู-อาเซียนทั้งหมด และเป็นประเทศที่มีการลงทุนจากอียูสูงเป็นอันดับ 1 ใน อาเซียน มีบริษัทยุโรปกว่า 10,000 บริษัทใช้สิงคโปร์เป็นที่ตั้งสํานักงานสําหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมีการลงทุนในด้านหุ้น (stock) กว่า 344 พันล้านยูโรในปี 2560
 
ประเด็นสําคัญในความตกลง

(1) การเปิดตลาดสิงคโปร์จะยกเลิกภาษีนําเข้าสินค้าจากอียูทุกรายการในทันทีหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ รวมถึงสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่อียูจะยกเลิกภาษีนําเข้าจากสิงคโปร์ประมาณร้อยละ 80 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยา สินค้าปิโตรเลียม และสินค้าเกษตรแปรรูป ส่วนรายการที่เหลือจะทยอยลดภาษีภายในเวลา 35 ปี เช่น สิ่งทอและพรมจะได้รับการผ่อนผันภายใน 3 ปี จักรยาน รองเท้า ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่น ๆ จะได้รับการผ่อนปรนภายใน 5 ปี

(2) กฏแหล่งกําเนิดสินค้า (Rule of Origin) อียูยอมผ่อนปรนข้อบังคับด้าน rule of origin ที่มีความเข้มงวด โดยยินยอมให้มีการใช้ local content ในลักษณะ regional ASEAN cumulation สําหรับสินค้าบางรายการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สิงคโปร์ในการจัดการห่วงโซ่มูลค่าของตน เนื่องจาก สิงคโปร์มีการใช้ส่วนประกอบ จากประเทศในอาเซียนสําหรับการผลิตสินค้าในสัดส่วนที่สูง

(3) ความร่วมมือด้านการศุลกากร ผ่านการจัดมาตรฐาน ลดขั้นตอน และยกระดับการ ดําเนินการให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาของกระบวนการศุลกากร โดยไม่ให้กระทบกับ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ โดยจะรวมไปถึงการรับรองโปรแกรมความร่วมมือต่าง ๆ เช่น EU Authorized Economic Operators Programme

(4) การลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี เพื่อช่วยลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนในกระบวนการ ตรวจสอบมาตรฐานและการนําเข้า/ส่งออกระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงจะใช้มาตรฐานระดับสากล (International Standards) ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ยา เครื่องมือและ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และพืชทั้งที่ยังไม่ได้แปรรูปและที่มีการแปรรูปแล้ว โดยสิงคโปร์จะยอมรับมาตรฐานการทดสอบความปลอดภัยเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของยุโรป รวมถึงให้การยอมรับฉลวกและเครื่องหมายรับรองของอียูในสินค้าผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่ม

(5) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บริษัทอียูสามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐของสิงคโปร์ได้มาก ขึ้นทั้งในด้านสินค้าและบริการ โดยสิงคโปร์ตกลงจะเพิ่มจํานวนโครงการที่กิจการต่างชาติสามารถเข้าร่วมประมูล โครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยเฉพาะในภาคขนส่งระบบรางและโครงการของ Singaporean National Environment Agency

(6) ภาคบริการสิงคโปร์จะเปิดเสรีด้านบริการที่หลากหลาย เช่น ด้านไปรษณีย์ ด้านโทรคมนาคม การให้บริการด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ การขนส่งทางทะเล และภาค การเงิน (ธนาคารพาณิชย์ของอียูจะสามารถเพิ่มจุดการให้บริการลูกค้าภายใต้เงื่อนไขที่กําหนดไว้) นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงยอมรับร่วมกันในเรื่องคุณสมบัติของวิชาชีพทนายความ สถาปนิก และวิศวกร

(7) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา อียจะได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ Geographical indications (GI) กว่า 100 รายการในสิงคโปร์โดยเฉพาะไวน์ สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ แฮมจาก Parma และเบียร์จากแคว้น Bayern เป็นต้น

(8) ข้อบทด้านการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนสิงคโปร์จะให้ความสําคัญในประเด็นสิทธิแรงงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการป่าไม้และประมงอย่างยั่งยืน ตลอดจนการสนับสนุนการ ลงทุนและการค้าสีเขียว ผ่านกลไกเช่น Social Responsibility Sustainability assurance scheme (เช่น eco labeling และการค้า free and ethical trade) รวมทั้งการจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ข้อตกลง ดังกล่าวจะมีการเชิญภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม

ทั้งนี้ ความตกลง  IPA อียู-สิงคโปร์ มีเป้าหมายที่จะช่วยปกป้องการลงทุนผ่านมาตรการระดับสูง โดยไม่ก้าว ล่วงสิทธิในการดําเนินการนโยบายสาธารณะของแต่ละฝ่าย เช่น การสาธารณสุข การอํานายความปลอดภัยและ สิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นสําคัญดังนี้

(1) มีการจัดตั้งศาลการลงทุนชั้นต้น (Permanent Investment Tribunal of First Instance) และศาลอุทธรณ์ (Appellate Tribunal) ซึ่งจะรับรองความถูกต้องตามกฎหมายและความแน่นอนเกี่ยวกับการ ตีความข้อตกลงต่าง ๆ

(2) สมาชิกของศาลทุกคนจะได้รับการแต่งตั้งจากอียูและสิงคโปร์ ล่วงหน้าและต้องปฏิบัติตาม กฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับความเป็นอิสระ ความซื่อสัตย์ และพฤติกรรมทางจริยธรรม สมาชิกศาลทุกคนต้อง ปฏิบัติตามข้อบังคับที่มีพันธะอยู่ในสัญญา

(3) อียูและสิงคโปร์จะแต่งตั้งสมาชิกศาลที่มีความชํานาญเฉพาะด้านในกฎหมายระหว่างประเทศ และมีคุณสมบัติที่จําเป็นในประเทศของตนเพื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสํานักงานตุลาการหรือเป็นลูกขุนโดยมี ความสามารถที่เป็นที่ยอมรับได้

(4) การดําเนินคดีก่อนที่จะไปถึงศาลจะต้องมีความโปร่งใสอย่างที่สุด เอกสารทั้งหมดจะถูก เผยแพร่ต่อสาธารณชนและการพิจารณาทั้งหมดจะต้องได้รับการเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ บุคคลที่สามที่มี ส่วนได้เสียจะได้รับอนุญาตให้ส่งข้อมูลในการดําเนินคดีต่อศาล ห้ามการดําเนินคดีแบบคู่ขนาน บทบัญญัติต่อต้านการใช้ประโยชน์จากระบบ เช่น การจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่เพื่อมุ่งทําการ ฟ้องร้องและยื่นคําร้อง
 


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com