เกษตรกร ตลาดใหม่ผู้ผลิตหุ่นยนต์

อัปเดตล่าสุด 21 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 711 Reads   

Digital transformation คือปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม ผลักดันธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เข้าสู่ยุคแห่งข้อมูล ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งดูผิวเผินแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องมากนัก

ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรจำต้องปรับตัวตามให้ทันโลก ซึ่งไม่เพียงแค่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต แต่รวมไปถึงการนำหุ่นยนต์สำหรับงานเกษตรกรรม รถแทรกเตอร์อัตโนมัติ โดรน และเทคโนโลยีหุ่นยนต์อื่น ๆ มาใช้งานอีกด้วย ซึ่งความจำเป็นต่อเทคโนโลยีที่จะมากขึ้นในอนาคตนี้ ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์หลายรายคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการเกษตร จะเป็นหนึ่งในตลาดหุ่นยนต์ที่น่าจับตามองในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น การเกษตรแบบผสมผสาน หรือการเกษตรขนาดใหญ่นั้น เครื่องจักรสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในอนาคตคือรถแทรกเตอร์อัตโนมัติ ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ลำดับต้น ๆ ที่จะมีความต้องการ จากนั้นจึงเป็นหุ่นยนต์การเกษตร, เทคโนโลยี Remote Sensing, ระบบเซ็นเซอร์ และอื่น ๆ ตามลำดับ 

Japan Research Institute (JRI) คือหนึ่งในองค์กรที่เห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์เกษตรกรรม “MY DONKEY” ขึ้น และอยู่ระหว่างทดลองใช้ในอุตสาหกรรมในขณะนี้

โดยหุ่นยนต์รุ่นนี้ ถูกออกแบบให้เป็นระบบโมดูลที่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนได้โดยง่าย เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายชนิด เพื่อให้สามารถเก็บพืชผัก และผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยลดระยะเวลา และแรงงานที่ต้องใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต สามารถเปลี่ยนล้อให้เหมาะกับสภาพไร่ของเกษตรกร หรือใช้เป็นหุ่นยนต์ติดตาม ที่จะเคลื่อนที่ตามหลังเกษตรกร เพื่อช่วยในการทำงานก็ได้

ในการทำงานนั้น MY DONLEY สามารถเรียนรู้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการเก็บเกี่ยวได้จากการวิ่งสำรวจในไร่ หรือจากประวัติการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทุก 1 ตารางเมตร ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้ สามารถนำไปปรับใช้ในการฝึกฝนเกษตรกรหน้าใหม่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ หุ่นยนต์รุ่นนี้ยังมีคุณสมบัติในการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่น เช่น การใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่การเกษตร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโดรน และหุ่นยนต์ให้ทำงานรวมกันได้ รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำ หรือชีวมวล (Biomass) เป็นแหล่งพลังงานเพื่อชาร์จไฟ หรือวิเคราะห์ข้อมูลของเกษตรกร เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของเกษตรกรผู้มีอายุมาก ประเมินความเสี่ยงในการเป็นลมแดด และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง คือการสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มักมีรายได้ต่ำ การจะก้าวตามให้ทันยุค Digital Transformation และกลายเป็นตลาดใหม่ให้กับผู้ผลิตหุ่นยนต์นั้น จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วยเสียก่อน