ดึงสหกรณ์พันแห่งตั้งบริษัท กยท.ทุ่ม 2 พันล. เดินหน้าส่งออก “ยางแท่ง”

อัปเดตล่าสุด 27 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 540 Reads   

สกัดปัญหาราคายางดิ่ง กยท.ผนึกกำลัง 1,000 สหกรณ์ชาวสวนยางทั่วประเทศ เล็งตั้งบริษัทลงทุนขึ้นโรงงานยางแท่ง ส่งออกแบบเอกชนเต็มตัว หวังเป็นเสือตัวที่ 6 แหวกวงล้อมตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศกดราคาต่ำกว่าทุน - บริษัทจีนเทกกิจการไทยคุมราคายาง พร้อมล็อบบี้ทุกพรรคการเมือง หวังไม่ให้มีปัญหาซ้ำรอยเหมือนกรณี กยท.ร่วมทุน 5 เสือวงการยาง

รายงานข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาที่ได้ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าหลายพันรายการตอบโต้กันสูงถึง 25% ของมูลค่าสินค้า และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อไปอีกหลายปีว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราทั้งประเภทยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางคอมปาวนด์ (ผสมสารเคมี) ฯลฯ ไปต่างประเทศปีละประมาณ 3.6-3.7 ล้านตัน เพราะในจำนวนดังกล่าวมีการส่งออกไปจีนไม่ต่ำกว่าปีละ 60% ของการส่งออก 3.6-3.7 ล้านตัน ดังนั้น ผู้บริหาร กยท.ที่ได้หารือกับผู้บริหารสหกรณ์ยางพาราขนาดใหญ่ทั่วประเทศมาหลายครั้ง จึงมีแผนที่จะลงทุนตั้งบริษัทผลิตยางและส่งออกยางพาราขึ้นมาโดยตรง ซึ่ง กยท.จะร่วมทุนกับ 1,000 สหกรณ์ชาวสวนยางทั่วประเทศในสัดส่วนที่ดำเนินธุรกิจแบบเอกชนได้เต็มตัว เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน

โดยเบื้องต้นเงินลงทุนในการตั้งโรงงานผลิตยางแท่งและเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางของสหกรณ์จากสมาชิกประมาณ 2,000 ล้านบาท กยท.พร้อมจะให้กู้มาดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ส่วนจะตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงมากด้วยหรือไม่นั้น ต้องหารือกันโดยละเอียดอีกหลายครั้ง เพราะต้องสร้างแบรนด์และใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง


“สหกรณ์ชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีสมาชิกประมาณ 100 ราย แต่ละรายมีพื้นที่เฉลี่ย 15 ไร่ ผลผลิตยางต่อไร่ที่ 254 กก. จะมีผลผลิตยางในแต่ละปีกว่า 3 แสนตัน เพียงพอในการจัดตั้งบริษัทผลิตและส่งออกยางเองได้ ในช่วง 7-8 ปีที่ราคายางตกต่ำมาตลอด จากภาวะผลผลิตล้นตลาดโลก ทำให้สหกรณ์เมื่อรับซื้อจากสมาชิกจะไม่กล้าสต๊อกยางมากเหมือนก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในช่วงปิดกรีดยางที่ราคาควรขยับสูงขึ้น แต่มักจะมีการทุบราคาจากพ่อค้ารวมหัวกันอยู่เสมอ ทำให้ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน และเมื่อมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา ต่อไปสหกรณ์ก็จะได้ไม่มีภาระต้องขนส่งยางมาประมูลขายที่ตลาดกลางทั้ง 6-7 แห่งทั่วประเทศมากเกินไป เมื่อขนมาแล้ว จำเป็นต้องขาย แม้จะถูกกดราคารับซื้อ เพราะค่าขนส่งและค่าแรงงานในการขึ้นลงสินค้าค่อนข้างสูง” สหกรณ์ชาวสวนยางทั่วประเทศควรเข้าร่วมลงทุนในการจัดตั้งบริษัท เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีอำนาจการต่อรองสูง สหกรณ์ที่มีขนาดเล็กอาจลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทเพียง 5 หมื่นบาทก็ได้ มีการจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาบริหารบริษัท จะมีการสร้างโรงงานผลิตยางแท่งหลายแห่งป้อนโรงงานผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศและต่างประเทศ


นอกจากนี้ ยังเป็นการคานอำนาจกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งในสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และโตเกียว ที่ราคาซื้อขายยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของไทยที่ กก.ละ 63-65 บาท ค่อนข้างมาก อีกทั้งขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ของจีนหลายแห่งเข้ามาซื้อกิจการบริษัทส่งออกยางในไทยหลายแห่ง ทำให้ราคายางของไทยถูกจีนผู้ซื้อรายใหญ่คุมราคาซื้อในไทยและคุมราคาขายในจีนได้เบ็ดเสร็จ ยิ่งเมื่อเกิดสงครามการค้าแทรกซ้อนขึ้นมาอีกเช่นนี้ จึงเป็นปัจจัยลบต่อชาวสวนยางที่จะต้องรับความผันผวนหนักเข้าไปอีก


อย่างไรก็ตาม การตั้งบริษัทผลิตและส่งออกยาง เปรียบเสมือนเป็นเสือตัวที่ 6 จะมีปัญหาทางการเมืองตามมาอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา กยท.ลงทุน 200 ล้านบาท กับ 5 บริษัทผู้ส่งออก ในวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท เพื่อรับซื้อยางที่ตลาดกลางในราคานำตลาด ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยางไม่เห็นด้วยว่าไปร่วมมือกับพ่อค้าได้อย่างไร หากมีการชำระบัญชีและขาดทุนจะมีปัญหาตามมาอีกได้ ดังนั้น กยท.จะต้องหารือกับทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แหล่งข่าวจาก กยท.กล่าว