096-5G-หัวเว่ย-ลงทุน-EEC

“สมคิด” จี้กสทช.เร่งเปิดประมูล 5G “หัวเว่ย” นำทัพจีนย้ายฐานมาไทย

อัปเดตล่าสุด 25 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 718 Reads   

“สมคิด” เร่ง กสทช.ประมูล 5G จบภายในกลางปี”63 เผย “หัวเว่ย” มุ่งลงทุน 5G ในไทย พร้อมตั้ง “อคาเดมี่” ประจำอาเซียน โรดโชว์จีนทะลุเป้า ดึงบริษัทชั้นนำย้ายฐานเข้าไทย จัดโปรแกรมถกการค้า-ลงทุน “แครี่ แลม” ปิดท้าย
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการโรดโชว์ชักจูงนักลงทุนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มณฑลกวางตุ้ง ระหว่างวันที่ 21-25 ต.ค.2562 ว่า ในการเยี่ยมชมไลน์การผลิตที่สำนักงานใหญ่ และพบหารือกับนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย ได้แสดงความจำนงที่จะไปลงทุนในประเทศไทย พร้อมตั้ง “หัวเว่ย อคาเดมี่” เพื่อพัฒนาบุคลากรร่วมกันในเขตอีอีซี

“เห็นพ้องต้องกันว่า ไทยต้องเร่งรัดประมูลลงทุน 5จี เพราะนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็กำลังเจรจากับหัวเว่ยและเร่งรัดเรื่องนี้เช่นกัน ผมจึงสั่งให้ กสทช.เร่งรัดการประมูล 5จี ให้จบกลางปี 2563 และให้ประมูลในราคาที่ไม่สูงเกินไป ไม่ใช้ราคาเป็นตัวขี้ขาดในการชนะประมูล แต่หัวใจคือให้บริการประชาชน ผู้บริโภค และวางโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศ” นายสมคิดกล่าว

และว่าในวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.นี้ จะประชุมร่วมกับ 10 บริษัทเอกชนชั้นนำ กับอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดย 1 ในนั้นคือ หัวเว่ย จะถือโอกาสนี้ขอให้เขาสนับสนุนเรื่องการสร้างบุคลากรในไทย และช่วยกันวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับแพลตฟอร์ม 5จี

สำหรับหัวเว่ย อคาเดมี่ ในประเทศไทย จะเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัล ไอซีที สำหรับภูมิภาคอาเซียน จะเปิด พ.ย.นี้ โดยจะลงนาม MOU ระหว่าง สวทช. (NSTDA) สนช. (NIA) และหัวเว่ย เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมด้าน ICT สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย บริษัท และสตาร์ตอัพ สร้างฐานองค์ความรู้และแพลตฟอร์มสำหรับประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยและระดับสากล

และโปรโมตรูปแบบความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างหัวเว่ย และหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มของหัวเว่ย อคาเดมี่ รวมทั้งร่วมพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัล นวัตกรรม ที่จะเพิ่มโอกาสให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ สตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการ เช่น ความรู้ด้าน big data, AI, IOT, 5G, ระบบ cloud

นายสมคิดกล่าวถึงการเจรจาชักจูงนักลงทุนที่เป็นบริษัทชั้นนำในมณฑลกวางตุ้งว่า เป็นไปตามเป้าหมาย หลายบริษัทสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งผู้บริหารของบริษัท Primax และบริษัท Tymphany ผู้นำเรื่องเทคโนโลยีเสียงระดับต้น ๆ ของโลก ได้ตัดสินใจลงทุนในไทย หลังเปรียบเทียบระหว่างไทยกับอีก 8 ประเทศ ก่อนเหลือไทยกับเวียดนาม

“บริษัทนี้เลือกลงทุนในไทย เนื่องจากมั่นใจเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และสถานที่ที่ตั้งซึ่งเหมาะสมจะขยายการลงทุนและการตลาดไปยังประเทศใน CLMVT โดยจะยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในเร็ว ๆ นี้”

ส่วนบริษัทอื่นที่สนใจลงทุนในไทย อาทิ บริษัท Quantum Hi-Tech (China) Biological ผู้นำเรื่องอุตสาหกรรมชีวภาพและผลิตยาแก้อาการโรคเบาหวานโดยใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ, บริษัท Hairma ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริหารระดับสูงได้เข้าหารือกับสำนักงานบีโอไอ แบบ one on one ซึ่งบีโอไอให้ความมั่นใจว่าจะรองรับการขยายตลาดไปยังอาเซียน และ CLMVT ได้

สำหรับการเซ็น MOU ระหว่างสำนักงานอีอีซี กับมณฑลกวางตุ้ง เพื่อการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมี Mr.Li Xi เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลกวางตุ้ง เป็นสักขีพยาน มีสาระสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน ประกอบด้วยความร่วมมือในความเชื่อมโยงพื้นที่อีอีซี กับมณฑลกวางตุ้ง และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊ารวมถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม ด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซีกับนาย Mr.Zhang Hu รองผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง ร่วมลงนาม และวันที่ 24 ต.ค. นายสมคิดจะพบหารือกับนางแครี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้วย