แม่ทัพใหม่ “เนคเทค” ปักธง “เครื่องจักร” รากฐานประเทศ

อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 508 Reads   

เป็นลูกหม้อมากว่า 23 ปีสำหรับ “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คนใหม่ ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา จากนี้จะพาองค์กรไปอย่างไรในจังหวะที่ประเทศเร่งสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสถานะของกระทรวงวิทย์ต้นสังกัด “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดมุมมอง

Q : เป้าหมาย 4 ปี

ทำให้เนคเทคเป็นเครื่องจักรสำคัญที่เป็นรากฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศ ที่ผ่านมาพบปัญหาคือ สร้างนวัตกรรมมาแต่ไม่มีคนใช้ อย่าง 10 กว่าปีก่อน สร้างแชตบอต “อับดุล” ขึ้นมาเป็นรายแรก ๆ แต่ไม่มีคนใช้งาน เพราะ too early เกิน ฉะนั้นทางแก้คือเมื่อนักวิจัยคิด-ทำเสร็จก็ต้องสร้างระบบนิเวศทั้งหมด ด้วยการจับมือกับพันธมิตรในหลายภาคส่วน รวมถึงต้องเตรียมงานวิจัยเพื่ออนาคตอย่าง Quantum และ Terahertz ด้วย

เดิมนักวิจัยเรามีอิสระที่จะคิดจะฝัน แต่ตอนนี้มีกรอบชัดที่โฟกัสใน 8 เรื่องสำคัญ คือ การบูรณาการข้อมูลประชากร เกษตรแม่นยำ AI สัญชาติไทย อุตสาหกรรมอัจฉริยะ เซ็นเซอร์คุณภาพสูง ไอทีเพื่อสุขภาพ การศึกษาอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทุกอย่างมีข้อมูลเป็นสายเลือดสำคัญ และเป็นจุดแข็งความเชี่ยวชาญเนคเทคคือเซ็นเซอร์ ระบบ-เน็ตเวิร์ก AI และบิ๊กดาต้า

การใช้ข้อมูลสำหรับตัดสินใจสำคัญมาก อย่างการทำสมาร์ทซิตี้โดยที่ยังไม่รู้ว่าจังหวัดนั้นมีปัญหาอะไร มันคือการลงงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าเลย แต่ปัญหาหลักจากการลงพื้นที่คือ ยังมีอยู่กว่า 50% ของหน่วยงานที่ยังไม่เป็นดิจิทัล เนคเทคจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะหนุนด้วยการสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อทำโอเพ่นดาต้าของภาครัฐที่มีมาตรฐานในการเชื่อมต่อกันได้ สำหรับหน่วยงานที่ยังใช้เก็บข้อมูลแบบ excel หรือ PDF

Q : งานวิจัยจะยัง Too Early

ถ้าจะวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ สักอย่าง ต้องมองไป 2-3 ปีข้างหน้าว่าเห็นโอกาสเห็นถึงจุดที่จะนำไปใช้ได้จริง แต่ที่ไกลกว่า 5 ปีก็จะมุ่งพัฒนาคนให้พร้อม อย่าง Quantum ที่ในเนคเทคเอง มีแค่ 2 คน ทั้งประเทศมีแค่ 35 คน ฉะนั้นต้องพัฒนาคนป้อนให้พอ สร้างโครงการให้ทุนเรียนอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย

Q : งานวิจัยยังอยู่บนหิ้ง

เนคเทคเป็นฮาร์ดคอร์คือผลิตเทคโนโลยีเอง ช่วยลดเงินรั่วไหลออกนอกได้เยอะ อย่างเกษตรแม่นยำ หรือ AI หรือแชตบอตภาษาไทย ที่พัฒนามานาน นี่ถึงยุคที่จะใช้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานานออกมาหาพันธมิตร เพื่อนำออกไปใช้ในภาคธุรกิจได้ ก็จะขุดนวัตกรรมทั้งหมดมาทำเป็นเซอร์วิสสำคัญของประเทศให้ได้ใช้กัน ผลักดันให้ธุรกิจนำไปทำให้เกิดเป็นโปรดักต์ออกมา เมื่อมีรายได้ก็แบ่งย้อนกลับมาที่แพลตฟอร์มที่เนคเทคสร้างขึ้น

จริงๆ ที่ผ่านมา เนคเทคถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนเยอะ ปีที่แล้วมี 141 สัญญา มีรายได้กลับเข้ามา 20% ของงบประมาณรวม (พันล้านบาท)

แต่ภายนอกยังมองว่า งานวิจัยยังไม่ได้นำไปใช้จริง เมื่อทบทวนก็พบว่า เราถ่ายทอดเทคโนโลยีไปเป็นจุด ๆ มีผู้ประกอบการไม่กี่รายที่รู้จักเรา ผลจึงไม่ใหญ่พอ

วิธีเดียวคือต้องทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสาธารณูปโภค ถูกใช้งานได้ง่ายและฟรีในกรณีที่ยังเป็น proof of concept

ทุกวันนี้ภาคธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีนวัตกรสูง มีนวัตกรรมเยอะมาก ตามล่าหาคนสร้างสิ่งใหม่เข้าไปทำงานด้วย ก็จะนำพวกนี้ไปใช้งานต่อ เราเปลี่ยนมุมมองให้ตัวเองเป็นฐานราก เชื่อว่ามุมมองงานวิจัยบนหิ้งจะค่อย ๆ หายไป บางอย่างอาจจะต้องรอให้เกิดแอปพลิเคชั่นที่ประชาชนได้ใช้จริง ๆ อย่างฐานข้อมูล TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ที่ตอนนี้ยังทำข้อมูลเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ภาครัฐ

Q : ไทยไป 4.0 ได้จริง

รัฐบาลเข้าใจปัญหา จึงพยายามผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ที่รวมไปถึงการรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด และไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นกระแสโลก ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะตามคนอื่นไม่ทัน แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่า ไทยไปช้า เพราะ 50% ของหน่วยงานภาครัฐไปดิจิทัลแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้บูรณาการแต่เป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็อย่าแค่ซื้อมาขายไป เป็นไปได้ไหมที่จะแมนูแฟกเตอริ่งเอง สร้างธุรกิจเองได้บ้าง ไม่ใช่ผันงบฯซื้ออย่างเดียว ก็อาจจะสร้างหน่วยงานแบบนี้ขึ้นมาเยอะ เป็นมือไม้ให้กับสังคม เพราะสังคมก็คาดหวังกับรัฐบาลกับเนคเทค ที่จะมีส่วนช่วยบอกเขาได้ว่า ทางวิชาการควรต้องแบบไหน

Q : อุปสรรคในเนคเทคเอง

เรื่องคน ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก ปัจจุบันมีนักวิจัย 400 คน และพนักงานชั่วคราวอีก 100 คน ก็ยังไม่พอ ซึ่งปัญหาก็มาจาก หาคนไม่ได้ด้วยค่าตอบแทนที่มีเพดานไปสู้กับเอกชนไม่ได้ และภาคการศึกษาผลิตคนไม่ทัน ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้กลไกของเนคเทคคล่องตัวกว่านี้ เช่น สวทช. สร้างบริษัทลูกให้มีสถานะเป็นเอกชนเข้ามาขับเคลื่อน ก็เป็นเรื่องที่พยายามดูระเบียบต่าง ๆ อยู่

Q : ความท้าทาย

ที่กังวลคือ ageing society เราต้องมีนักวิจัยเลือดใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ และก็ต้องรักษาเลือดเก่าอย่างไร ในเมื่ออัตรากำลังมีจำกัด อาจจะต้องเดินหน้าสร้างสถาบันใหม่ ๆ ให้กับประเทศเหมือนที่เคยเป็นจุดเริ่มต้นของ สพธอ. สรอ. บริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และอื่น ๆ ก็น่าจะเป็นทางออกอีกวิธีคือถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญในการขยายอัตรากำลัง ก็จะยินดีมาก

Q : ใต้กระทรวงใหม่

โครงสร้างใหม่ยังไม่ชัด แต่ขอแค่ยังอยู่ก็เดินต่อได้ตามเป้าที่วางไว้