เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเกม ยกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ด้วยการแข่งขัน

อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 1,495 Reads   

หนึ่งในหนทางการพัฒนาธุรกิจ บุคลากร และสภาพแวดล้อมในธุรกิจที่ดีคือ “การแข่งขัน” ซึ่ง DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ในจีน ได้จัดงาน “RoboMaster 2019” งานแข่งขันหุ่นยนต์ ขึ้นที่เมืองเชินเจิ้น ประเทศจีน โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกเป็นนักศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 173 ทีม หรือราว 10,000 คน โดยผู้เข้าแข่งขัน จะได้รับพิจารณาให้เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรของบริษัท DJI, Huawei, และบริษัทชั้นนำจากจีนอื่น ๆ รวมถึงโอกาสในการตั้งธุรกิจของตนเองหลังเรียนจบ โดยผู้จัดงานชี้แจงว่า การแข่งขันในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นการพัฒนาหุ่นยนต์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีนให้ดียิ่งขึ้น


ทีมจาก Northeastern University ผู้ชนะการแข่งขัน RoboMaster 2019

เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเกม

Faqi Wang นักศึกษาจาก Northeastern University ทีมผู้ชนะการแข่งขันในปี 2019 กล่าวแสดงความเห็นว่า “ผมมีรุ่นพี่ที่เข้าแข่งขันในปีก่อน แล้วจบไปทำงานกับ Huawei และ DJI อยู่หลายคน ผมจึงเชื่อว่าถ้าเราพยายาม ก็จะต้องมีคนเห็นคุณค่าของเราในที่สุด” ซึ่งการแข่งขัน RoboMaster คือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขา และนักศึกษาอีกหลายคน เลือกเรียนหลักสูตรด้านการออกแบบเครื่องจักร เพิ่มเติมจากหลักสูตรพ้นฐาน
 
โดยในปีนี้ จากแบบสอบถามพบว่า 50% ของผู้เข้าแข่งขันมีเป้าหมายศึกษาต่อด้านการวิจัย และพัฒนาหุ่นยนต์ 30% ตั้งเป้าทำงานเป็นวิศวกร และอีก 20% ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ 

Shuo Yang หัวหน้าที่ปรึกษา Robomaster ชี้แจงว่า “ผู้เข้าแข่งขันจำนวนมากถูกดึงตัวไปโดยบริษัทชั้นนำมากมาย บ้างก็ศึกษาต่อใน Harbin Institute of Technology มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน หรือกระทั่งตั้งบริษัทของตัวเองจนโด่งดังก็มี”

DJI อธิบายเพิ่มเติมว่า หัวข้อในการแข่งขัน RoboMaster คือ การใช้หุ่นยนต์ 5 ชนิด จำนวน 7 เครื่อง จำลองรูปแบบของเกมแนว Tower Defense ออกมา โดยผู้เข้าแข่งจะต้องพัฒนากลยุทธ์ และควบคุมหุ่นยนต์ทั้งหมดผ่านสมาร์ทโฟน และใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ช่วยให้การแข่งขันดูน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น พร้อมถ่ายทอดสดการแข่งขันที่ถูกตกแต่งด้วยเอฟเฟ็คท์พิเศษผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ดูแล้วเหมือนการแข่งขันอีสปอร์ต ซึ่งในปีนี้ มียอดจำนวนผู้ชมถ่ายทอดสดสูงถึง 1.95 ล้านคน จากจำนวน 15 ประเทศด้วยกัน

เป้าหมายในการแข่งขัน คือการพัฒนาโครงสร้าง, ระบบควบคุม, เทคโนโลยีประมวลผลภาพ, ฮาร์ดแวร์, และซอฟแวร์ (สนับสนุนภาพโดย DJI)

โอกาสทางการศึกษา

ผู้จัดการแข่งเล่าว่า การจัดการแข่งขันให้ดูน่าสนุก ดูแล้วเหมือนเป็นเกมที่เด็ก ๆ ชอบเล่น ก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของวิศวกร และคนทำงานในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เสียใหม่ เพื่อให้เด็กดูแล้วรู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ดูดี สนุกสนานไปกับการทำงานได้ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากการปรึกษากับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และในทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ทีมผู้ชนะก็จะถูกโปรโมทด้วยการนำไปทำอนิเมชัน หรือไปเขียนเป็นการ์ตูน กระตุ้นความสนใจให้แพร่หลายไปยังกลุ่มอื่น ๆ

นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันเช่นนี้ ยังสามารถขอสปอนเซอร์ได้ง่ายกว่าการประกวดเชิงวิชาการ และเมื่อมีสปอนเซอร์เช่นนี้ นักศึกษาจึงมีต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะกับนักศึกษาช่าง

โดยเป้าหมายในการแข่งขัน คือการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในหลายด้านไปพร้อมกัน เช่น โครงสร้าง, ระบบควบคุม, เทคโนโลยีประมวลผลภาพ, ฮาร์ดแวร์, และซอฟแวร์ ซึ่งนอกจากจะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นแล้ว ยังต้องพัฒนาให้สามารถเอาชนะทีมคู่แข่งได้ กระตุ้นให้ผู้เข้าแข่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบจับภาพอัตโนมัติ, การโปรแกรมให้หุ่นยนต์สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง, และอื่น ๆ ซึ่ง Hiroki Hanamori ผู้เข้าแข่งขันจากทีม “Fukuokaniwaka” ประเทศญี่ปุ่น กล่าวแสดงความเห็นว่า “ในการแข่งขันแต่ละรอบ ผู้เข้าแข่งต้องพัฒนาหุ่นยนต์มากกว่าการแข่งขันระดับประเทศของญี่ปุ่นเสียอีก ซึ่งเมื่อต้องใช้หุ่นยนต์ 7 ตัวแล้ว ก็หมายความว่าการแข่งแต่ละยก ต้องพัฒนาหุ่นยนต์มากกว่าการแข่งระดับประเทศของญี่ปุ่นถึง 7 เท่า” โดย DJI ชี้แจงว่า ความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นผลจากการปรับปรุงกฎการแข่งขันนับตั้งแต่ปี 2015 


สนามทดสอบหุ่นยนต์ของ DJI

โดยในการพัฒนาหุ่นยนต์นั้น หากผู้เข้าแข่งเลือกเปิดเผยข้อมูลการพัฒนาให้เป็นโอเพ่นซอร์ส จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 300 - 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ข้อมูลที่ได้ไม่หยุดอยู่ที่แค่การแข่ง แต่สามารถนำไปต่อยอดให้กับทีมอื่น ผู้สนใจ หรือภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งทางผู้จัดการแข่งขัน ยังลงทุนกว่า 300 ล้านหยวน ก่อสร้างนามทดสอบหุ่นยนต์ พร้อมจ้างวิศวกรกว่า 100 ราย เพื่อให้คำปรึกษาทางเทคนิคแก่ผู้เข้าแข่งอีกด้วย


ผู้เข้าแข่งขันขณะพัฒนาหุ่นยนต์ระหว่างช่วงปิดเทอม

นอกจากนี้ ผู้จัดแข่งขัน ได้ร่วมกับ Southern University of Science and Technology จัดโครงการค่ายฤดูร้อนสำหรับผู้สนใจเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่ออบรมพื้นฐานด้านหุ่นยนต์ ซึ่ง Aviel Fernando Kanz ผู้เข้าร่วมจากประเทศเม็กซิโก แสดงความเห็นว่า “การมานั่งเรียนเรื่องหุ่นยนต์ทั้งวันแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่ก็สนุกกว่าที่คิดมาก” อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้ลองใช้ชีวิตอยู่กับหุ่นยนต์ดูว่า ตนจะสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้จริงหรือไม่ ซึ่ง DJI เชื่อว่า การลงทุนเช่นนี้ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่คุ้มค่า และดีต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว