ไทยชูโลเคชั่นเด่น ปูพรมการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ปั้นบุคลากรรองรับเพียบกว่า 100,000 ตำแหน่ง

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 832 Reads   

ไทยโชว์ศักยภาพการเป็น Strategic Location ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมเปิดรับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, อุตสาหกรรม, การคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในงาน “Maintenance and Resilience Asia 2019” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อมุ่งยกระดับภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่น ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม ชูพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดโอกาสไทยพัฒนาสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไฟ และงานซ่อมบำรุงรักษาราง เตรียมพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับกว่า 100,000 ตำแหน่ง  

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญการส่งเสริมให้ภาคการผลิตนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยกระดับสู่อุตสาหกรรมและการผลิต 4.0  เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอื่น ๆ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ จนกลายเป็นฐานการผลิตของค่ายรถยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ แต่ปัจจุบันกำลังจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ และใช้ภาคตะวันออกซึ่งเคยเป็นฐานการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด และได้ต่อยอดมาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็น Strategic Location ที่โดดเด่นและมีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัย ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อากาศยานและโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) และเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพและทักษะแรงงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสอดรับกับทิศทางของประเทศ ซึ่งมีการประมาณการความต้องการแรงงานของ EEC ในปี 2560 -2566 จะมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve 

นอกจากนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ  ยังจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายเดิม เช่น ญี่ปุ่น ยังคงรักษาฐานการผลิตและลงทุนในประเทศไทยต่อไป ขณะเดียวกันก็จะดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามามากขึ้นด้วย เพราะการทำสิ่งใหม่ สิ่งที่ทันสมัย จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมทำได้อย่างต่อเนื่อง

เร่งสร้างเครือข่ายคมนาคมและขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิต

ด้าน นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในปีถัดไป การคมนาคมจะเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะการเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพและความแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระบบขนส่งกับสิ่งอำนวยความสะดวก การแข่งขันด้านโลจิสติกส์ การเดินทาง การยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2558 – 2565 กระทรวงคมนาคมจะมุ่งพัฒนาการขนส่งทางราง รวมทั้งการขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ มากขึ้น จากเดิมที่เน้นการขนส่งทางถนนเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนการขนส่งต่อจีดีพีลงเหลือ 12% ภายในปี 2564 จาก 13.8% ในปี 2560 แต่ไม่ได้ลดบทบาทการขนส่งทางถนนไปทั้งหมด เพราะการพัฒนาระบบรางต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เช่นเดียวกับการขนส่งทางอากาศ ที่มีแผนการพัฒนาทั้งสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อกับ EEC ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง, ท่าเรือแหลมฉบัง และการเชื่อมโยงทางหลวงพิเศษต่าง ๆ  

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมุ่งพัฒนาระบบรางมากขึ้น ทั้งรถไฟทางคู่ , รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งในปี 2562 กระทรวงคมนาคมมีแผนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแพคเกจการพัฒนารถไฟทางคู่อีกประมาณ 6-7 เส้นทาง การพัฒนาโครงการเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไฟเหมือนเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งงานซ่อมแซมและบำรุงรักษารางต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรางด้วย เช่น วิศวกร พนักงานซ่อมบำรุง-การดูแลทาง โดยคาดว่าจะมีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมรางกว่าแสนตำแหน่ง     

“กระทรวงคมนาคม ต้องการให้การขนส่งทางรางเป็นเส้นเลือดใหญ่เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนมาสู่รางมากขึ้น จึงวางแผนพัฒนาระบบรางมากกว่า 2 เท่า ทำให้สัดส่วนการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% เพราะรางในอนาคตจะเชื่อมต่อการขนส่งระดับจังหวัดกับประเทศ และมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เชื่อมระบบรางไปสู่ท่าเรือ และสนามบิน เพื่อรองรับการท่องเที่ยว และกิจกรรมทุกประเภทของการเดินทาง โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่ละปีจะใช้งบประมาณราว 200,000 - 300,000 ล้านบาท จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้”

เตรียมพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสรรพ เพื่อต่อยอดสู่การเป็น EEC อย่างสมบูรณ์   
 

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ได้เตรียมหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ โดยวางแนวทางไว้ 2 รูปแบบ ดังนี้

1. อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในระยะยาว เช่น Bio Medical Engineering, รถไฟฟ้า, หุ่นยนต์ (Robotics) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยจะสร้างหลักสูตรเฉพาะด้านขึ้นมารองรับทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อเตรียมสร้างคนโดยตรงเข้าไปในอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยขณะนี้ เริ่มผลิตบุคลากรหลักสูตรดังกล่าวในระดับปริญญาตรีแล้วประมาณปีละ  100 คน เพื่อรองรับกับความต้องการของพื้นที่ EEC

“ด้าน Bio Medical Engineering เป็น Deep Tech มาก ๆ เราต้องการไม่ได้เยอะมาก แต่ต้องการคนที่มีความรู้ลึกจริง ๆ ส่วนเรื่อง AI และ Big data อาจไม่ได้ดีมานด์ว่าต้องรู้ลึกมากแต่ต้องมีคนที่รู้กว้าง ดังนั้นเราต้องการ Strategy ในการวางคนตรงนี้”   

2. อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น ณ ปัจจุบัน เช่น ระบบราง ซึ่งจะเน้นเรื่องการยกระดับและพัฒนาทักษะแรงงาน (Upskill - Reskill) เช่น วิศวกร ที่มีอยู่จำนวนมาก เพราะเมื่อถึงจุดที่การก่อสร้างอิ่มตัวและเทคโนโลยีไม่พัฒนาต่อแล้ว จะทำให้มีซัพพลายวิศวกรเหลือในระบบ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดหลักสูตรเฉพาะ  

ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน EEC มีความต้องการแรงงาน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ ระดับ ปวส./อาชีวะ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน เช่น KOSEN กำลังผลิตบุคลากรเพื่อป้อนอุตสาหกรรมใหม่ และกลุ่มที่ 2 คือ งานวิจัย และการต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ ซึ่งจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเข้ามาพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้ โดยขณะนี้ จุฬาฯ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เตรียมแผนการ Upskill - Reskill วิศวกรที่มีอยู่ในระบบและมีความรู้พื้นฐานอยู่แล้วให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรม S-Curve ได้ เช่น เพิ่มเติมความรู้ด้านเทคโนโลยี AI และ Big Data มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายในปีแรก (2562-2563) จะสร้างด้านการออกแบบระบบ (System Integrator : SI) เพื่อให้มี SI ที่เป็นผู้วางระบบออโตเมชันให้กับโรงงานอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้านแบตเตอรี่ และด้าน Automation – Robotics ประมาณ 1,000 คน ส่วนในระยะยาวจะพัฒนานักวิจัยไปต่อยอดการสร้างมูลค่าให้แก่ EEC อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่นิคมอุตสาหกรรม

ด้าน นายอัตสึชิ เทเรดะ ผู้จัดการอาวุโส สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพของไทยในด้านอุตสาหกรรม จึงเป็นฐานการผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันแผนการลงทุนที่รัฐบาลประกาศออกมายังสอดคล้องกับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไทยทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป

จัดงาน ‘MRA 2019’ ครั้งแรกในไทย โชว์เทคโนโลยีทันสมัย ยกระดับโรงงานในไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นเติบโตไปพร้อมกัน และภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม  โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับญี่ปุ่น JMA จึงร่วมกับบริษัท เอ็กซโปซิส, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น รวมถึงภาคเอกชน จัดงาน “Maintenance and Resilience Asia 2019” หรือ MRA 2019 ภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 62 ณ ไบเทค บางนา  โดยมีผู้ประกอบการจาก 120 บริษัท 200 บูธ ซึ่ง 80% เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ที่เหลือ คือ ไทย, จีน และสิงคโปร์ ตั้งเป้าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 6,000 คน 

ภายในงานดังกล่าวจะมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ เซ็นเซอร์, ปัญญาประดิษฐ์, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, IoT ฯลฯ มาร่วมจัดแสดงและให้ความรู้ และการนำเสนอกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำ

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th