ฉลุยบอร์ด EEC ไฟเขียวไฮสปีด-ท่าเรือมาบตาพุด ร่างสัญญาจ่อรอลงนามคิวแรก

อัปเดตล่าสุด 26 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 325 Reads   

ที่ประชุมบอร์ด EEC รับทราบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินผ่าน EIA จ่อเข้า ครม. อีก 1-2 สัปดาห์ลงนาม ก.ค.ชัวร์ เสร็จเป็นโครงการแรก พร้อมส่งมอบพื้นที่ ด้าน “ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1” ร่างสัญญาสุดท้ายฉลุย ชี้ “สนามบินอู่ตะเภา” และ “ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3” รอศาลปกครองตัดสินอีก 1 เดือนหลังยื่นอุทธรณ์ ก่อนเปิดซองที่เหลือได้หรือไม่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ EEC) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด EEC ครั้งที่ 6/2562 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า

ที่ประชุมรับทราบ ความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้วเมื่อช่วงของวันนี้ (24 มิ.ย. 2562)

และคาดว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสรุปแผนส่งมอบพื้นที่กับเอกชน และลงนามได้ภายใน ก.ค. 2562 ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะถือว่าเป็นโครงการฯ ร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) ในพื้นที่ EEC เสร็จเป็นโครงการแรก

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ที่ประชุมรับทราบ ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดฯ และอนุมัติผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และให้กรรมการพิจารณาร่างสัญญาที่ผ่านมาการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้ความเห็นกลับมาภายในวันที่ 1 ก.ค. 2562 ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ กับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ภายในเดือน ก.ค. 2562 เช่นกัน

โครงการฯ นี้ได้ผ่าน EIA แล้ว โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะนำเสนอให้ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป หลังจากนั้น กนอ. จะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนเพื่อบริหารจัดการถมทะเลได้
และจากทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ถือเป็นการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ สร้างการลงทุนมูลค่าสูงถึง (รวม 2 โครงการ) 271,900 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ 224,000 ล้านบาท และโครงการท่าเรือมาบตาพุด 47,900 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง จะยังไม่มีการเปิดพิจารณาซองที่เหลือแต่อย่างใด โดยจะรอให้ศาลปกครองเป็นผู้ตัดสินว่า จะสามารถเปิดซองมาพิจารณาได้หรือไม่ ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้ารายอื่นที่ไม่ได้มีปัญญา ในการยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการคัดเลือกก็จะดำเนินตามขั้นตอนการเปิดซองพิจารณาไปตามปกติ

จนเมื่อคำตัดสินศาลออกมา หากสามารถเปิดซองที่เหลือมาพิจารณาได้ ก็จะหยิบขึ้นมาพิจารณาและคัดเลือกรายที่ชนะ จากนั้นก็จะประกาศผู้ชนะ ซึ่งคาดว่ากระบวนการรอศาลตัดสินน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน