ข้าวหงษ์ทองรุกใช้ AI แทนคน 9 เดือนเอกชนแห่ขอ BOI หุ่นยนต์พุ่ง 85%

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 563 Reads   

"ราคาข้าวแพง-ค่าแรงงานพุ่ง" ผู้ผลิตข้าวหันพึ่งโรบอตแทนกรรมกรคาดอีก 3-5 ปีใช้เต็มรูปแบบ ด้าน "ข้าวหงษ์ทอง" ประเดิมขอบีโอไอโรบอต 260 ล้านบาท ด้าน "บีโอไอ" เผยยอดขอส่งเสริมลงทุนหุ่นยนต์ 9 เดือนพุ่ง 85% มูลค่าเกือบ 8,000 ล้านบาท  

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปี 2561/2562 ที่ปรับสูงขึ้น เป็นตันละ 16,000-17,000 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับจำนวนแรงงานในภาคเกษตรลดลง และมีการปรับค่าแรงงานสูงขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวหันมานำเทคโนโลยีสมัยใหม่ประเภทโรบอตหรือหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 

แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมข้าวทั้งรายใหญ่และขนาดเล็กที่มีกำลังซื้อก็ให้ความสนใจลงทุนในเรื่องนี้ โดยมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยตั้งแต่ประมาณ 2-3 แสนบาทขึ้นไป เพื่อช่วยเฉพาะส่วนงานด้านการผลิตและควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์  

นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ส่งออกข้าวได้มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในส่วนของการผลิตข้าว บรรจุภัณฑ์ข้าวมานานแล้ว และยิ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยลดปัญหาของการขาดแคลนแรงงาน และค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ผู้ส่งออกสามารถลดต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในสายการผลิต เช่น ส่วนของการบรรจุและขนย้ายสินค้า เชื่อว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้ากลุ่มผู้ส่งออกจะนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้เต็มรูปแบบในไลน์การผลิตสินค้ามากขึ้น เพราะ AI ช่วยควบคุมและสั่งงานได้ง่าย สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และพัฒนาในส่วนที่ขาดหรือบกพร่องได้ 

 "ผู้ส่งออกข้าวเกือบทุกรายนำระบบ AI หุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าข้าว เนื่องจากลดต้นทุน และสามารถผลิตสินค้า บรรจุสินค้าได้เร็ว ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มโรงสีอาจลงทุนในระบบนี้น้อย เนื่องจากมีต้นทุนและอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุนเท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่"

นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตข้าวครบวงจรรายใหญ่และข้าวถุงแบรนด์หงษ์ทอง กล่าวว่า บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อนำโรบอตเข้ามาช่วยในการผลิต โดยเฉพาะในไลน์การผลิตและขนย้ายสินค้า โดยมีมูลค่าโครงการลงทุน 260 ล้านบาท และโรบอตเข้ามาช่วยเหลือในการประกอบการโรงสี มูลค่า 36 ล้านบาท เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน โดยเฉพาะในสายการผลิต ช่วยยกสินค้า โดยจะเริ่มดำเนินการได้เต็มรูปแบบในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่า 10% อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้มีนโยบายปรับลดคนงาน แต่ต้องการใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน 

สำหรับโรบอตที่บริษัทนำเข้ามาใช้งานนั้น สามารถเพิ่มยอดการผลิตได้กว่า 10% โดยประสิทธิภาพของการทำงาน 1 นาทีสามารถยกสินค้าได้ 16 ใบ (ขนาดถุง 25 กิโลกรัม) 1 ชั่วโมงสามารถยกได้ 960 ใบ หรือ 1 วันสามารถยกสินค้าข้าวได้ 576 ตัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาช่วยในการคัดเมล็ด และมาแพ็กสินค้าขึ้นบัลก์ เพื่อนำขึ้นรถบรรทุกในการจัดส่งสินค้าต่อไป ส่งผลให้การทำงานของโรงสีไฟเจียเม้ง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2561) มีจำนวน 103 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมี 109 โครงการ ส่วนในด้านมูลค่า เท่ากับ 13,256 ล้านบาท ขยายตัว 5.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 12,535 ล้านบาท โดยหากแยกเฉพาะการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (หุ่นยนต์) มี 25 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 19 โครงการ ด้านมูลค่าเท่ากับ 7,990 ล้านบาท เติบโต 84.61% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 4,328 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บีโอไอได้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตออกไปอีก 3 ปี โดยจะสิ้นสุดการขอรับการลงทุนปี 2563 จากเดิมสิ้นสุดการให้ยื่นวันที่ 29 ธ.ค. 2561