อุตฯการแพทย์ไทยสดใส ญี่ปุ่นสนตั้งฐานการผลิต

อัปเดตล่าสุด 14 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 533 Reads   

นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ กล่าวว่า เจโทร กรุงเทพฯ ได้ร่วมกับจังหวัดฟุกุชิมะและเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างภูมิภาคของเจโทร (อาร์ไอที) จับคู่ทางธุรกิจเพื่อพัฒนาตลาด แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองเมืองมีความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์และมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในไทย สำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และมีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะลงทุน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ล่าสุดเจโทรนำคณะผู้ประกอบการ 2 จังหวัด ศึกษาภาพรวมของธุรกิจนี้ในไทย มีผู้ประกอบการญี่ปุ่น 4 ราย และผู้ประกอบการไทย 4 ราย เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ มั่นใจจะมีความร่วมมือทางการค้า ขยายตลาดและการลงทุนต่อไป

“ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ในอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น มีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากญี่ปุ่น สหรัฐ จีนและเยอรมนี ซึ่งไทยมีการขยายตัวด้านการบริการทางการแพทย์สูงขึ้นทุกปี และจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนในปี 2564 รวมทั้งมีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน และอัตราผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี ทำให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก” นายฮิโรคิกล่าว

นายมาซาฮิเดะ อาซูมิ ผู้ประสานงานอาวุโส ศูนย์คลัสเตอร์เพื่อการพัฒนาและประสานงานมูลนิธิเพื่อการวิจัยชีวการแพทย์และนวัตกรรม เมืองโกเบ กล่าวว่า เมืองโกเบเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งศูนย์ทดสอบทางการแพทย์แบบครบวงจรทันสมัย นับว่าเป็นคลัสเตอร์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีนวัตกรรมทันสมัย ส่วนไทยเป็นตลาดเครื่องมือแพทย์ที่มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นทุกๆ ปี ทำให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนในการขยายตลาดในไทยและอาเซียน

นายคาซูมิ มัทซึโมโต ผู้อำนวยการ กองสนับสนุนอุตสาหกรรม จังหวัดฟุกุชิมะ กล่าวว่า เมืองฟุกุชิมะมีสินค้าทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำบันทึกข้อตกลงด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการแพทย์กับหน่วยงานรัฐของไทย เพื่อสนับสนุนในการยกระดับและจับคู่ธุรกิจร่วมกันกับเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งมีการเข้าร่วมงานแสดงอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ในไทย ซึ่งการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้เพื่อให้ไทยเป็นฐานในการกระจายสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา กัมพูชา อย่างไรก็ตามในการเข้ามาลงทุนสิ่งที่สำคัญ คือ นโยบายของภาครัฐทั้ง 2 ประเทศต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเอื้อต่อการลงทุน