โจทย์ “ค้าปลีก” ยุคใหม่ ต้อง “ทรานส์ฟอร์ม” มัดใจ Gen Y

อัปเดตล่าสุด 21 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 593 Reads   

ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคเจเนอเรชั่นวาย ที่อายุตั้งแต่ 25-34 ปี กลายเป็นกำลังซื้อหลักของหลาย ๆ อุตสาหกรรมในขณะนี้


โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ รสนิยม พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกระแสของการกินดื่มนอกบ้าน การมองหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของดิจิทัลในชีวิตประจำวัน


เราจึงเห็นภาพของการปรับตัวในธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มแม็กเน็ตที่น่าสนใจ เช่น แบรนด์ หรือสินค้าที่กำลังเป็นกระแส การรีโนเวตพื้นที่ให้ดูทันสมัย น่าใช้บริการ ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบออมนิแชนเนล เชื่อมต่อตัวสโตร์กับออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้


“ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้ให้บริการร้านฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่ ฯลฯ ฉายภาพที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ หรือคนเจนวาย ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองกันมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องศึกษาและพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ มารองรับอยู่ตลอด


โดยจะขึ้นอยู่กับโปรไฟล์ของกลุ่มลูกค้าในแต่ละสาขา ทำให้บริษัทมีโมเดลของซูเปอร์มาร์เก็ตที่หลากหลาย เช่น ฟู้ด ฮอลล์ ก็จะจับกลุ่มพรีเมี่ยม ท็อปส์ เป็นกลุ่มที่รองลงมา เป็นต้น แม้กระทั่งในโมเดลเดียวกัน แต่หากเป็นคนละสาขา ก็จะมีรูปแบบของร้านหรือสินค้าที่แตกต่างกันออกไปอีก เพื่อให้ตรงกับความต้องการของทาร์เก็ตในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด


ล่าสุด ได้รีโนเวตเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าหลักมากกว่า 50% เป็นกลุ่มเจนวาย ให้เป็นพื้นที่ของ “ช็อปปิ้งแอนด์ไดนิ่งเดสติเนชัน” เพิ่มพื้นที่ใหม่อย่างโซน “ไดนิ่ง” หรือการรับประทานอาหารแบบเคาน์เตอร์บาร์ โดยมีประเภทของอาหารให้เลือก 5 แบบ อาทิ เมดิเตอร์เรเนียนบาร์, โอเชียนบาร์, เดลี่บาร์, กริลบาร์ และเบเวอเรจบาร์


นอกจากนี้ ยังเปิดให้ลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบที่ขายภายในซูเปอร์มาร์เก็ต นำมาใช้เชฟปรุงอาหารได้ทันที โดยคิดราคาตามค่าวัตถุดิบ และค่าทำอาหารอีกประมาณ 100 บาท ทำให้อาหารของที่นี้มีราคาที่คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการไปรับประทานในร้านอาหารอื่น ๆ


“ภัทรพร” ระบุว่า เทรนด์ของการมีพื้นที่ไดนิ่งอยู่ในฟู้ดสโตร์เป็นที่นิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่น ยุโรป และคาดว่าจะได้รับความนิยมในไทยมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่นิยมทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า และความครบครัน มาที่เดียวสามารถได้ทั้งทานข้าว แฮงเอาต์ และซื้อของเข้าบ้านได้ จากสินค้าทั้งหมดกว่า 50,000 รายการ ทั้งผักผลไม้ สแน็ก ชีส เบเกอรี่ ของใช้ในบ้าน ฯลฯ รวมกว่า 17 แคทิกอรี่


โดยเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์มีทั้งหมด 6 สาขา มีสาขาที่มีพื้นที่ไดนิ่ง 4 สาขา อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ ชิดลม เซ็นทรัล ฟอเรสต้า ภูเก็ต และเซ็นทรัลป่าตอง มีทรานแซ็กชั่นประมาณ 8,000 บิล/วัน เฉลี่ย 600 บาทต่อบิล แต่หากสาขาไหนมีไดนิ่งจะมีทรานแซ็กชันในกลุ่มนี้อยู่ที่ 2,000-3,000 บาทต่อบิล โมเดลนี้จึงจะเข้ามาผลักดันยอดขายของเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ในภาพรวมให้เติบโตขึ้นด้วย คาดว่าปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา 30%


“แม้ว่าออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีก แต่สำหรับกลุ่มฟู้ด ยังมองว่าลูกค้าต้องการที่จะมาช็อปหรือรับประทานอาหารที่สโตร์อยู่ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มบริษัทก็มีการผลักดันในช่องทางออนไลน์ควบคู่เช่นกัน”


ด้านความเคลื่อนไหวของศูนย์การค้าเมกาบางนา ค้าปลีกอีกรายที่มีความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน ล่าสุด ได้ปรับโฉมช่องทางดิจิทัลใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น


“สิรินฉัตร แสงศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกาบางนา ระบุถึงข้อมูลการตลาดพบว่า คนไทยโดยเฉลี่ยแล้วใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน (นับรวมทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) และส่วนใหญ่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนถึง 71% โดยมากกว่า 80% ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อดูรายการบันเทิงและหาข้อมูลต่าง ๆ และมากกว่า 59% ช็อปปิ้งผ่านทางมือถือเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกไลฟ์สไตล์ จึงได้ทุ่มงบฯการตลาดกว่า 100 ล้านบาท กับกลยุทธ์ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน” พัฒนาช่องทางดิจิทัลครบทุกแพลตฟอร์มตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เทคโนโลยีทางการตลาดใหม่ ๆ สร้างอีโคซิสเต็ม เพื่อนำไปใช้ตั้งแต่โฆษณา สร้างเอ็นเกจเมนต์ เพิ่มศักยภาพในการสื่อสารกับลูกค้า พัฒนาการจัดเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าให้มีศักยภาพ เพื่อวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ได้อย่างตรงจุด ตลอดจนพัฒนาเว็บไซต์ และเปิดตัวเมกาบางนาแอปพลิเคชัน ให้ง่ายต่อการหาข้อมูล ตั้งแต่โปรโมชัน แคมเปญส่งเสริมการขายต่าง ๆ และเชื่อมโยงกับร้านค้าในศูนย์ได้สะดวกขึ้น


นอกจากนี้ยังมีการปรับลอยัลตี้โปรแกรม ให้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ทั้งสะสมคะแนน แคมเปญพิเศษสำหรับสมาชิก ของรางวัลในเดือนเกิด รวมถึงแฟลชเซลหรือโปรโมชัน ที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการภายในศูนย์มากขึ้น ตลอดจนรับมือกับการแข่งขันของค้าปลีกในย่านบางนาในช่วงต่อจากนี้


ในยุคที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คนที่ปรับตัวให้ทันเท่านั้นจึงจะอยู่รอด…