เจาะลึกบริการแบบเบ็ดเสร็จ 'EEC – OSS' เพิ่มความสะดวกนักลงทุน ครบจบในที่เดียวแบบรวดเร็ว และโปร่งใส

อัปเดตล่าสุด 24 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 768 Reads   
หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ แต่จะต้องวางแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ เอกชน และนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ EEC ยังมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการสร้างฐานลงทุนใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 12 อุตสาหกรรม
 
 
โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผนึกพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เปิดระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (EEC One Stop Service : EEC – OSS) นำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ทั้งยื่นคำขออนุมัติ อนุญาต ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส โดยในระยะแรกจะร่นระยะเวลาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเหลือ 78 วัน จากเดิม 158 วัน และจะใช้เวลาราว 6 เดือน เพื่อประเมินผลก่อนเดินหน้าระยะที่ 2 ต่อเนื่อง
 
 
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) กล่าวว่า สกพอ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ 6 หน่วยงานที่เป็นเจ้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตดำเนินธุรกิจและการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมอนามัย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมที่ดิน, และสำนักงานการตรวจคนเข้าเมือง พัฒนาระบบ EEC – OSS โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ออกแบบระบบที่สอดคล้องกับระบบการบูรณาการศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) เพื่อยกระดับการบริการของภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) ตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และสร้างความโปร่งใสในขั้นตอนการอนุมัติและอนุญาตประกอบกิจการ
 
ลงทุนไม่ยุ่งยาก ลดเอกสารซ้ำซ้อน ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
 
สำหรับระบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ EEC - OSS ได้ปรับปรุงกระบวนงาน ลด ละ เลิก เอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น และยุบรวมใบอนุญาตที่คล้ายคลึงกัน ลดการใช้เอกสารที่ซ้ำซ้อน ซึ่งสามารถลดจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นให้กับภาครัฐพิจารณาจาก 60 รายการ เหลือ 42 รายการ ขณะเดียวกัน ยังลดระยะเวลาการขออนุญาตการประกอบกิจการในพื้นที่ EEC จากขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์ไปจนถึงการขอเปิดกิจการในพื้นที่ EEC จากเดิม 158 วัน เหลือเพียง 78 วัน ทั้งยังลดหน่วยงานที่เอกชนจะต้องเดินทางไปติดต่อจากเดิมหลายหน่วยงานเหลือเพียงการขออนุญาตผ่านระบบ EEC – OSS หลังจากนี้จะมีการประเมินผลประมาณ 6 เดือน ก่อนดำเนินการในระยะต่อไป
 
 
“ระบบบริการ EEC – OSS นอกจากจะลดขั้นตอน ลดระยะเวลาและเอกสารที่เอกชนต้องใช้ในการขออนุญาต ยังลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งลดการพบปะเจ้าหน้าที่ในการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำให้เกิดความโปร่งใสในการยื่นขอใบอนุญาต เอกชนได้รับความสะดวกมากขึ้น และหลังจากนี้จะประเมินผลก่อนพัฒนาระบบให้ดีขึ้น และขยายรูปแบบการให้บริการไปยังเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน”
 
ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม กล่าวว่า EEC - OSS จะนำร่องดำเนินการระยะแรกก่อน ซึ่งได้นำข้อมูลต่าง ๆ มาแชร์และลดขั้นตอนการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพการลงทุนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เกิดความโปร่งใสในขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ และยังสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน
 
 
ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กล่าวว่า ความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ EEC และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ การมีเสถียรภาพทางการเมือง, การลดต้นทุนด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ดิน ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมาย, การพัฒนาโครงสร้างสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่จะทำให้การพัฒนาไร้รอยต่อและทั่วถึงทุกพื้นที่ นำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวม รวมทั้งกฎหมายที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน, มาตรการทางภาษี, ระบบ Eco System ที่ตอบโจทย์การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการบริการภาครัฐที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาบทเรียนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่าปัจจัยที่มีผลสำคัญที่สุดก็คือเรื่องการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพของภาครัฐ เพราะคือต้นทุนของผู้ประกอบการ
 
 “วันนี้เรากำลังช่วงชิงความได้เปรียบในเรื่องของการบริการภาครัฐ เพราะทุกประเทศเพื่อนบ้านมีสเถียรภาพทางการเมืองค่อนข้างดี มีการเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก และพยายามทำให้ต้นทุนต่ำลงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน แรงงาน มีการนำหุ่่นยนต์เข้ามาใช้ กฎระเบียบทุกคนพยายามลดขั้นตอนให้มากที่สุด ดังนั้นแต้มต่อที่สำคัญที่สุดก็คือ การบริการภาครัฐที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่สร้างต้นทุนเกินสมควร ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด“ 
 
 
นอกจากนี้ นายปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาการบริการภาครัฐ โดยขั้นแรกได้ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และมอบหมายให้ กพร. ดำเนินการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นคู่มือให้ประชาชนในการขออนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ จะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเท่าใด ทำให้เริ่มเกิดความโปร่งใสมากขึ้น และขั้นที่ 2 ได้พัฒนาระบบบูรณาการศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบการอนุมัติ อนุญาตให้อยู่ในระบบดิจิทัล รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้าง Eco System เพื่อให้การประสานงานระหว่างส่วนราชการจะต้องทำบนแพลตฟอร์มกลาง ซึ่ง DGA เป็นผู้จัดทำขึ้น ถือเป็นการปูทางสำหรับระบบการให้บริการของ EEC – OSS เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจ นักลงทุนในพื้นที่ EEC และเมื่อประสบความสำเร็จในการทดสอบใช้ระบบดังกล่าวแล้ว สำนักงาน กพร. จะนำไปขยายผลกับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เชื่อว่าจะทำให้ EEC มีแต้มต่อมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านได้    
                                             
ด้าน นายปริญญ์ บุญดีสกุลโชค กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรอนทิส จำกัด ที่ปรึกษาพัฒนาระบบ EEC-OSS  ระบุถึงปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ EEC-OSS ประสบความสำเร็จ ได้แก่

1. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบูรณาการกระบวนการให้บริการ (Digital Service Platform)
2. ปรับกระบวนการให้บริการเพื่อให้มีประสิทธิภาพ (Process Transformation)
3. ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบ ทดแทนการใช้ทำงานแบบเดิม (Adaptation & Change)
4. เชื่อมโยงกับระบบการให้บริการของประเทศในภาพรวม (Policy Alignment)

 
ทั้งนี้ ระบบ EEC-OSS ประกอบด้วยฟังก์ชันอัจฉริยะ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
  • Assesment แนะนำใบอนุญาตที่ต้องขอผ่านคำถามเกี่ยวกับธุรกิจ
  • ID สามารถขอรับบริการได้ทุกที่ผ่านบัญชีผู้ใช้ส่วนตัว
  • Form & Doc ประหยัดเวลา ไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำกันหลายคำขอ หรือหลายครั้ง เพราะระบบสามารเชื่อมต่อข้อมูลถึงกัน และดึงข้อมูลจากภาครัฐที่เคยกรอกไว้มาใช้ได้
  • Track & Pay ติดตามสถานะ ความคืบหน้าของคำขออนุมัติได้ตลอด และพัฒนาช่องทางการชำระเงินออนไลน์
  • License พัฒนาใบอนุญาตเพื่อการจัดเก็บรูปแบบออนไลน์ (Digital Permit)
สำหรับการใช้บริการผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้งานผ่านช่องทาง www.eeco.or.th/eec-oss หรือเข้าใช้งานผ่านระบบ EEC-OSS ได้โดยตรง
 
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th