โตโยต้าสปีดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ แก้ปม “ซี-เอชอาร์” ขายดีชอร์ตซัพพลาย

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 553 Reads   

โตโยต้าสะดุดบริษัทแม่ญี่ปุ่นซัพพลายแบตเตอรี่ไม่ทัน หลังซี-เอชอาร์ ไฮบริด ขายดีเกินคาด จี้แก้ปัญหาหวั่นกระทบยาว เร่งมือลุยโรงงานผลิตแบตบนพื้นที่อีอีซี พร้อมเดินเครื่องต้นปีหน้า


นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงกระแสตอบรับและความนิยมของลูกค้าต่อกลุ่มรถยนต์ไฮบริดที่มีส่วนผสมระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าว่าดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะโดยเฉพาะหลังโตโยต้าแนะนำโตโยต้า ซี-เอชอาร์ ออกสู่ตลาดซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้มียอดขายรุ่นไฮบริดสูงถึง 70% แตกต่างจากก่อนหน้านี้ซึ่งโตโยต้าลอนช์กลุ่มรถไฮบริด ลูกค้าจะนิยมเพียงแค่ 10% เท่านั้น
“จริง ๆ แล้วรถยนต์ซี-เอชอาร์ของเราควรจะขายได้มากกว่านี้ แต่เราติดปัญหาการซัพพลายแบตเตอรี่ไฮบริดจากบริษัทแม่ไม่เพียงพอ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยเป็นเหมือนกันทั่วโลก ตอนนี้เรากำลังค่อย ๆ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน”


นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเร็วสำหรับการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริด โดยเมื่อปลายปีที่แล้วโตโยต้าได้ยื่นขอรับส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านบาท แผนงานเร็วขึ้นมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปี คือในปี 2562 อย่างแน่นอน


นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนตั้งโรงงานทำลายซากรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วรวมถึงแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จ.ชลบุรี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดให้บริการแล้ว โดยมีการนำรถยนต์ทดลองประกอบของโตโยต้าที่ไม่ใช้แล้วมาเข้ากระบวนการทำลายซากไปแล้วจำนวน 100 คัน
และบริษัทยังเปิดกว้างสำหรับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่ต้องการนำซากรถยนต์หรือแบตเตอรี่ไฮบริดใน 3 ขั้นตอน คือ

  1. rebuilt จากเดิมที่ต้องส่งไปทำลายที่ประเทศเบลเยียม โดยนำแบตเตอรี่ มาเปิดฝาดูว่าเซลล์จำนวน 28 เซลล์ มีเซลล์ใดใช้ได้ เซลล์ใดต้องทำลาย
  2. reused คือตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่ว่ายังสามารถใช้ต่อได้หรือไม่ ถ้าได้จะนำไปใช้ในโรงงานเพื่อทำเป็นโซลาร์รูฟท็อป และ
  3. recycle ด้วยการเอาวัสดุที่มี เช่น นิกเกิล, ตะกั่ว, ทองแดง ออกมาเพื่อเก็บไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ โรงทำลายซากรถยนต์และแบตเตอรี่นั้น บริษัทได้ศึกษาโมเดลจากญี่ปุ่น ที่นั่นมีการจัดตั้งเป็นกองทุนกำจัดซากรถที่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งขึ้น โดยผู้ซื้อรถจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนมูลค่า 10,000 เยน


โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินสำหรับการทำลายแบตเตอรี่ 4,000 เยน และการทำลายชิ้นส่วนต่าง ๆ อีก 6,000 เยน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่อาจจะนำมาประยุกต์เพื่อใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า สถิติยอดจำหน่ายรถยนต์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หอการค้าญี่ปุ่นรายงานว่า โตโยต้า ซี-เอชอาร์ มียอดขายไปแล้วเกือบ 10,000 คัน คิดเป็น 11.4% ของยอดขายกลุ่มรถเอสยูวี ในช่วง 7 เดือนที่มียอดขายรวม 80,833 คัน