070-รถยนต์ไฟฟ้า-อุตสาหกรรม-ยานยนต์-BOI

รถยนต์ไฟฟ้าสตาร์ตไม่ติด ยุโรป-ญี่ปุ่นเบรกลงทุนยาว

อัปเดตล่าสุด 19 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 749 Reads   

แผนปั้นประเทศไทยฮับรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลบิ๊กตู่สะดุด ค่ายรถทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเบรกลงทุน “เบนซ์” ล้มแผนทำตลาด EQC รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทยแบบไม่มีกำหนด ชี้รัฐบาลส่งเสริมไม่ถูกจุด ระบุทุ่มลงทุนโรงงานแบตเตอรี่แค่รองรับกลุ่มรถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด หลายค่ายขู่ย้ายฐานไปจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีหลัก ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดรูปแบบส่งเสริม 3 รูปแบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (ไฮบริด หรือ HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือ PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) โดยมีแพ็กเกจด้านภาษีสรรพสามิตสนับสนุนคิดในอัตรา 50% สำหรับสองแบบแรก และอัตรา 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2560 ถึงวันนี้ปรากฏว่ายังไม่มีค่ายรถยนต์แบรนด์ใดตัดสินใจลงทุนแบบเต็มรูปแบบ ส่วนใหญ่เลือกแค่เพียงบางส่วน อาทิ ไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริดเท่านั้น พร้อมทั้งปฏิเสธการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิง

เบนซ์ล้มแผนทำตลาดรถอีวี

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากตัดสินใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ เพื่อลงทุนทั้งโปรเจ็กต์ว่า ถึงวันนี้แผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะแนวทางการทำตลาดที่บริษัทเซตไว้กับนโยบายของรัฐบาลไทยไม่สอดรับกัน การจะปลุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องเริ่มต้นจากการสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นก่อนแล้วการลงทุนจึงจะตามมา แม้ว่าโดยในข้อกำหนดการลงทุนเปิดช่องให้ค่ายรถยนต์สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% เข้ามาทำตลาดได้ก่อนโดยรับการยกเว้นอากรขาเข้า แต่มีข้อจำกัดด้านจำนวนซึ่งในเชิงการตลาดทำไม่ได้

นายโฟล์เกอร์กล่าวว่า การจะนำรถยนต์สักรุ่นเข้ามาทำตลาดจำเป็นต้องวางระบบการขายอย่างเป็นระบบ มีการสร้างเน็ตเวิร์ก ยิ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% จำเป็นจะต้องมีโครงข่ายสาธารณูปโภค สถานีชาร์จและอื่น ๆ รองรับ ดังนั้น วอลุ่มที่รัฐบาลกำหนดให้แค่หลักร้อยไม่คุ้มค่าการลงทุนแน่ เมอร์เซเดส-เบนซ์จำเป็นต้องประกาศยกเลิกแผนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่น EQC เข้ามาจำหน่ายภายในปีนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

“ตรงนี้คงต้องคุยรายละเอียดกันอีกครั้ง โดยเฉพาะจำนวนรถยนต์ที่จะเอาเข้ามาขาย จริง ๆ บริษัทแม่ที่เยอรมนีและเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ เชื่อเหมือนกันว่าประเทศไทยเป็นตลาดรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ใหญ่ที่สุด โอกาสที่จะพัฒนาไปสู่อิเล็กทริกเวฮิเคิลไม่น่ายาก”

จ้องย้ายฐานไปจีน

อีกประเด็นหนึ่งที่กังวล คือ ประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้ากับจีน ซึ่งสามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาขายได้ เสียภาษี 0% เปิดโอกาสให้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทะลักเข้ามาได้ง่ายขึ้น จุดนี้ทำให้บริษัทแม่กำลังพิจารณาเรื่องการลงทุนใหม่ โดยมีแนวคิดหันไปลงทุนในจีน เพื่อผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์พวงมาลัยขวา แล้วเอาเข้ามาขายในประเทศไทยแทน ในลักษณะเดียวกับที่บริษัทรถยนต์จากจีนได้รับสิทธิพิเศษนี้

“เราอยากให้ภาครัฐทบทวน อย่างน้อยวอลุุ่มต้องมี 300-500 คันในปีแรกก่อนเพื่อสร้างตลาด และทำให้ลูกค้าสามารถจับต้องรถยนต์ไฟฟ้าได้ก่อน สิ่งที่น่าอายคือบ้านเราแอดวานซ์ที่สุดในโลกในการใช้รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือไมลด์ไฮบริด แต่วันนี้เบนซ์ส่งรถยนต์ไฟฟ้า EQC ไปขายทั่วโลกแล้ว แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ใช้”

ผุดโรงงานแบตเตอรี่

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประกาศลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ไปเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยร่วมลงทุนกับพันธมิตรใช้เม็ดเงินมากกว่า 100 ล้านยูโร ทั้งขยายโรงงานผลิตและตั้งโรงงานสามารถเริ่มผลิตได้เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดกลุ่มรถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริดเท่านั้น โรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 6 ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์มีใน 3 ทวีป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่ต่างจากค่ายอื่น ๆ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู ที่ร่วมมือกับแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก เปิดตัวโรงงานประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูง ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี มูลค่า 700 ล้านบาท รองรับรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด 4 รุ่น ได้แก่ ซีรีส์ 3, 5, 7 และเอ็กซ์ 5 และก้าวต่อไปคือการเตรียมความพร้อมสำหรับแบตเตอรี่แรงดันสูง พร้อมด้วยเทคโนโลยีลํ้ายุคอื่น ๆ ขณะที่ค่ายโตโยต้าก็เพิ่งเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ที่โรงงานประกอบรถยนต์ โตโยต้า เกตเวย์ ไปเป็นกลางปี 2562 ที่ผ่านมา หลัก ๆ ก็ยังเป็นการป้อนตลาดกลุ่มรถยนต์ไฮบริด

บีโอไอไฟเขียวลงทุนแล้ว

สำหรับโครงการส่งเสริมกิจการรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบนั้น ก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์ให้ความสนใจยื่นขอส่งเสริมเยอะมาก โดยเมื่อปี 2560 เป็นกลุ่มรถไฮบริดทั้งสิ้น 5 ราย ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน และมาสด้า ส่วนอีก 1 รายที่ยังไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน คือ ค่ายรถยนต์ซูซูกิ

ขณะที่ปี 2561 มีค่ายรถยนต์ยื่นรับส่งเสริมการลงทุนรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด จำนวน 6 ราย ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส-เบนซ์, ฮอนด้า, โตโยต้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, เอ็มจี ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) มีมากถึง 10 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู และออดี้ ค่ายรถญี่ปุ่น ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, นิสสัน, ฟอมม์, เอ็มจี และพลังงานมหานคร ซึ่งได้เริ่มลงทุนกับรถยนต์ยี่ห้อไมน์ แต่ก็มีเพียงแบรนด์เล็ก ๆ เท่านั้นที่สนใจลงในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ในขณะที่บิ๊กแบรนด์กลุ่มยุโรปและญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสนใจ