สมอ. เสนอแก้ปัญหาส่งออกรถยนต์และปาล์มน้ำมันของไทยในเวที WTO หวั่นกระทบผู้ส่งออกไทย

อัปเดตล่าสุด 18 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 486 Reads   

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกจากการควบคุมสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว สมอ. ยังมีภารกิจหลักในการดำเนินการด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางด้านภาษี โดย สมอ. ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางของไทย ในการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT) ขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการแจ้งกฎระเบียบ (Notification Authority) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมถึงมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องมาตรฐานและการตรวจสอบ รับรอง ในการประชุมของ WTO 

เมื่อวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2562 คณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Committee on Technical Barrier to Trade) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีการจัดประชุมสมัยสามัญ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยในการประชุมครั้งนี้ สมอ. ได้หยิบยกมาตรการของประเทศสมาชิก ที่มีผลกระทบต่อการค้าของไทยเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนาม ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยอย่างรุนแรง จึงขอเสนอให้เวียดนามผ่อนผันการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไปก่อน และขอให้พิจารณานำปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยและประเทศสมาชิก WTO อื่น ไปปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรถยนต์นำเข้า เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ในการนี้เวียดนามชี้แจงต่อที่ประชุมว่าจะนำข้อกังวลของประเทศสมาชิกไปพิจารณาเพื่อช่วยขจัดปัญหาและความยุ่งยากที่เกิดขึ้นให้มีความสมดุลกับมาตรการด้านความปลอดภัยและคุณภาพต่อไป

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สมอ. ยังเรียกร้องให้สหภาพยุโรปดำเนินการแก้ไขและตรวจสอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน ได้แก่ การกำหนดเกณฑ์การประเมินผลกระทบของพืชน้ำมันที่ใช้เป็นพลังงานทดแทน ในส่วนที่กล่าวอ้างว่าการเพาะปลูกน้ำมันปาล์มมีผลต่อการทำลายป่า และการติดฉลากปลอดน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Free Label) ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดต่อการบริโภคน้ำมันปาล์มได้ รวมทั้งยังเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจำแนกสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disruptors) ให้อยู่บนพื้นฐานของการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เพื่อลดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดสหภาพยุโรปอีกด้วย