บ๊อชเผยผลประกอบการและยอดขายปี 2561 สูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง

อัปเดตล่าสุด 12 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 941 Reads   

บ๊อชเผยผลประกอบการและยอดขายปี 2561 สูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง
 

  • ยอดขายของกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็น 7.79 หมื่นล้านยูโร
  • กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี แตะระดับ 5.3 พันล้านยูโร
  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี อยู่ที่ร้อยละ 6.9
  • เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ เตรียมพร้อมลงทุนกว่า 4 พันล้านยูโร
  • คาดการณ์ยอดขายจากกลุ่มธุรกิจการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า จะทะยานถึง 5 พันล้านยูโร ในปี 2568
  • เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ รุดหน้าด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอที่จะเพิ่มเป็น 4,000 คน ภายในปี 2564

 
ชตุ๊ทการ์ต, เยอรมนี – กลุ่มบริษัทบ๊อชเดินหน้าสานต่อความสำเร็จทางธุรกิจแม้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจและการค้าที่ซบเซา โดยสามารถสร้างยอดขายและผลประกอบการของปี 2561 ได้ในระดับสูงมากเทียบเท่าปีก่อนหน้า จากตัวเลขผลประกอบการเบื้องต้น พบว่า ในปีที่ผ่านมา บ๊อชซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 7.79 หมื่นล้านยูโร แม้จะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2.1 พันล้านยูโร ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากปีก่อนหน้า หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว “แม้สภาวะทางเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย แต่บ๊อชก็สามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ในปีที่ผ่านมา เห็นได้จากยอดขายและผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง” ดร. โวคมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบ๊อชกล่าวในงานแถลงข่าวผลประกอบการเบื้องต้นของบริษัทฯ “ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม บ๊อชต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับตลาดทั้งในเชิงการดำเนินธุรกิจและเทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน ความมุ่งมั่นของบริษัท ในด้านเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ ก็เริ่มแสดง ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ” ดร. เดนเนอร์ กล่าวเสริม
 
บ๊อชจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 52 ล้านยูโรในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปีก่อนหน้า โดยในปีที่ผ่านมา กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีขึ้นไปอยู่ที่ราว 5.3 พันล้านยูโร ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ศาสตราจารย์สเตฟาน อเซนเคียชเบาเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบ๊อชกล่าวว่า “บ๊อชตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจให้โตกว่าสภาวะของตลาด พร้อมทั้งรักษาระดับรายได้ที่ยอดเยี่ยม แม้คาดการณ์ว่าอาจจะต้องเผชิญสภาวะทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ เรากำลังวางแผนพัฒนาทุกหน่วยธุรกิจให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถสร้างเงินทุนเพื่อนำมาพัฒนาส่งเสริมความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของเรา ซึ่งถือเป็นอนาคตของบริษัทฯ”
 
กระบวนทัพแรกของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Automation): บ๊อชพร้อมลงทุนกว่า 4 พันล้านยูโร
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการขับขี่อัตโนมัติ (automated driving) อย่างมาก บริษัทฯ เน้นการพัฒนาในสองแนวทางหลักเพื่อสร้างอนาคตแห่งการขับขี่ที่ไร้อุบัติเหตุ (accident-free mobility) แนวทางแรกคือ การพัฒนาระบบช่วยเหลือคนขับ (driver assistance systems) เพื่อทำให้เกิดการขับขี่อัตโนมัติบางส่วนในยานพาหนะส่วนบุคคล (เทคโนโลยีอัตโนมัติระดับ 2 และ 3) การที่บ๊อชเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ บริษัทฯ จึงเชื่อมั่นที่จะตั้งเป้ายอดขาย 2 พันล้านยูโรในปีนี้ จากระบบช่วยเหลือคนขับ ในขณะที่แนวทางที่สอง ของการพัฒนาธุรกิจจะเน้นไปที่การสร้างการขับขี่ไร้คนขับ (driverless driving) ให้เกิดขึ้นจริง ภายในต้นทศวรรษหน้า (เทคโนโลยีอัตโนมัติระดับ 4 และ 5)
 
ดร. เดนเนอร์ กล่าวว่า “การขับขี่ไร้คนขับจะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่ยานพาหนะทุกคัน และเป็นประตูสู่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ อาทิ แท็กซี่หุ่นยนต์ (robottaxi) และยานยนต์ให้บริการรับส่ง (shutter-based mobility)” เนื่องจากระบบอัตโนมัติมีความซับซ้อนทางเทคนิคอยู่มาก เดนเนอร์จึงเล็งเห็นความสำคัญที่ต้องลงทุนกับเรื่องนี้ และกล่าวต่อว่า “นับจากนี้จนถึงปี 2565 บ๊อชเตรียมเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านยูโรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ” โดยในปัจจุบัน บ๊อชมีวิศวกรราว 4,000 พันคนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติโดยเฉพาะ
 
กระบวนทัพที่สองของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ: สร้างระบบนิเวศที่ครอบคลุมการบริการระบบขนส่งเคลื่อนที่ (mobility services)
ศักยภาพของตลาดการขับขี่แบบอัตโนมัติมีมหาศาล คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2558 ถึงปี 2573 ยานพาหนะส่วนบุคคล (personal mobility) แบบอัตโนมัติจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 (ที่มา: สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ หรือ ITF) ดังนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า นักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่า ตลาดฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการขับขี่อัตโนมัติจะมีมูลค่าสูงราว 6 หมื่นล้านยูโร และภายในปี 2568 รถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่จากจำนวนกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลกจะไร้คนขับ (ที่มา: โรแลนด์ เบอร์เกอร์)
 
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2578 ยอดขายของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยานพาหนะที่ใช้ร่วมกัน (shared mobility) จะพุ่งสูงถึง 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ที่มา: BCG) ในเรื่องนี้ บ๊อชได้เตรียมพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและการให้บริการสำหรับยานพาหนะเหล่านี้ โดยระบบนิเวศการให้บริการระบบขนส่งเคลื่อนที่ของบ๊อชได้ผสมผสานโซลูชั่นและการบริการต่างๆ ทั้งการจอง การชำระเงิน การชาร์จพลังงาน การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และระบบอินโฟเทนเม้นต์ (infotainment) หนึ่งในการให้บริการเหล่านี้ คือ การชาร์จพลังงานไฟฟ้าแบบสะดวกง่ายดาย (Convenience charging) ซึ่งจะเป็นทั้งระบบนำทางที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และเป็นโซลูชั่นการชาร์จพลังงานไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electromobility) โดยลูกค้าประจำรายแรกของบ๊อชคือ Sono Motors ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเยอรมัน ดร. เดนเนอร์ กล่าวว่า “โซลูชั่นที่เชื่อมต่อของเรา จะทำให้ยานพาหนะระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ของผู้คน”
 
กระบวนทัพแรกของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (Electrification): ตั้งเป้าครองตลาดมวลรวม
ในปี 2561 บ๊อชได้งานพัฒนาโครงการด้านระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าถึง 30 โครงการ มูลค่ารวมหลายพันล้านยูโร และตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะเพิ่มยอดขายของธุรกิจได้ถึง 10 เท่า เป็น 5 พันล้านยูโร ดร. เดนเนอร์ กล่าวว่า “เราต้องการขึ้นแท่นเป็นผู้นำตลาดมวลรวมสำหรับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า”  ทั้งนี้ ในวงการธุรกิจระบบขับเคลื่อนไฟฟ้านั้น ไม่มีบริษัทใดที่จะมีความเชี่ยวชาญหลากหลายได้เท่ากับบ๊อช เพราะบ๊อชสามารถพัฒนาระบบขับเคลื่อนได้ทุกชนิด ตั้งแต่จักรยานไปจนถึงรถบรรทุก ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน มีรถยนต์นับล้านคันที่ใช้ชิ้นส่วนระบบไฟฟ้าหรือไฮบริดของบ๊อช ดร. เดนเนอร์ กล่าวต่อว่า “ในอนาคต คนจะต้องพูดกันว่า ไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าคันไหนที่ไม่มีชิ้นส่วนของบ๊อช” คำกล่าวที่ว่านี้เป็นจริงแล้ว โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และบ๊อชเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ส่วนบุคคลอยู่ โดยบ๊อชเพิ่งร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับพันธมิตรในจีนคือ NIO เพื่อพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติและระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า นอกจากนี้ บ๊อชจะเริ่มผลิตโซลูชั่นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบคอมแพคต์ชื่อ e-axle ในปี 2562 นี้ที่ประเทศจีน รวมทั้งได้เริ่มผลิตแบตเตอรี่ขนาด 48 โวลต์สำหรับตลาดมวลรวมเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าภายในปี 2573 รถรุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตขึ้นมาทั่วโลกจะใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าขนาด 48 โวลต์ในอัตราส่วนร้อยละ 20 ยิ่งไปกว่านั้น การควบรวมบริษัท EM-motive GmbH เข้ามา จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งของบ๊อชในตลาดระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก
 
กระบวนทัพที่สองของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า : ขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้า
ด้วยปริมาณการขนส่งสินค้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ภายในปี 2573 (ที่มา: สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ หรือ ITF) ดร. เดนเนอร์จึงกล่าวว่า “เราต้องการให้รถบรรทุกเป็นพาหนะที่เหมาะกับการขนส่ง โดยไม่ทำลายสภาพภูมิอากาศหรือคุณภาพอากาศ เพราะแน่นอนว่า กุญแจสำคัญของเราก็คือระบบขับเคลื่อนไฟฟ้านั่นเอง” สิ่งที่จะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ในปี 2573 คือ หนึ่งในสี่ของรถยนต์เชิงพาณิชย์ทั่วโลก ซึ่งอยู่ในจีนแล้วราวหนึ่งในสาม จะได้ใช้ระบบบางส่วนที่เป็นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าของบ๊อช การพัฒนาของบ๊อชจึงส่งผลต่อดีต่ออุตสาหกรรมในการผลิตเทคโนโลยีเพื่อการขนส่งสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แบตเตอรี่ขนาด 36 โวลต์สำหรับจักรยานเพื่อการขนส่งสินค้า e-bike มอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะขนาดเบา เช่น StreetScooter ของสำนักงานไปรษณีย์ประเทศเยอรมนี เพลาไฟฟ้า (e-axle) สำหรับรถแวนบรรทุกเบาและหนัก เพลาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electrified axle) สำหรับรถกึ่งพ่วง (semitrailer) และในอนาคตจะมีระบบเซลล์เชื้อเพลิง (fuel-cell powertrain) สำหรับรถบรรทุกใหญ่ขนาด 40 ตันด้วย “เรามีความพร้อมสำหรับทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นตลาดระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าบางส่วน เต็มรูปแบบ แบบใช้พลังงานแบตเตอรี่ หรือระบบเซลล์เชื้อเพลิง” ดร. เดนเนอร์กล่าวด้วยความมั่นใจ
 
กระบวนทัพแรกด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI): บ๊อชปักธงจุดแข็งหลักด้านเทคโนโลยี AI
ดร. เดนเนอร์เชื่อว่าในอนาคต การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ไปใช้กับงานด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมจะเป็นความเชี่ยวชาญหลักด้านหนึ่งของบ๊อช “ภายในกลางทศวรรษหน้า เราต้องการให้ทุกผลิตภัณฑ์ของเราใช้เอไอ หรือมีเอไอเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนาหรือผลิต และก็จริงที่ว่าตอนนี้บริษัทอเมริกันและจีนได้เข้ามายึดตลาดเอไอที่ใช้ในสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แล้ว” ดร. เดน-เนอร์กล่าว “อย่างไรก็ดี หากไม่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการจราจรขนส่ง การผลิต หรือการก่อสร้างต่างๆ แล้ว ประสิทธิภาพการใช้เอไอของบริษัทเหล่านั้น ก็อาจตามไม่ทันการใช้เอไอในภาคอุตสาหกรรม” ดร. เดนเนอร์ยังเผยด้วยว่า บ๊อชวางเป้าหมายไว้สูงทีเดียว “ในฐานะที่เราคือผู้นำด้านนวัตกรรม จึงต้องการพัฒนาด้านเอไอให้เป็นเลิศ และขึ้นแท่นระดับโลกให้ได้” มาถึงจุดนี้ บ๊อชจึงมีแผนเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอในบริษัทจาก 1,000 เป็น 4,000 คนให้ได้ภายในปี 2564
 
กระบวนทัพที่สองด้านเทคโนโลยีเอไอ: พัฒนาเอไอในห้วงอวกาศและบนท้องถนนได้สำเร็จ
พนักงานที่ Bosch Center for Artificial Intelligence ทำงานกันอย่างเต็มที่ร่วม 150 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ SoundSee ซึ่ง ดร. เดนเนอร์อธิบายว่า “อัลกอริทึมของ SoundSee ใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักรในการฟังว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายหรือไม่” ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถคาดการณ์การชำรุดเสียหายของเครื่องจักรได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และยังช่วยเพิ่มผลิตภาพอีกด้วย ในช่วงกลางปีนี้ จะมีการส่งโซลูชั่น SoundSee ไปใช้ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และบ๊อชก็เล็งเห็นศักยภาพในเชิงพาณิชย์ว่า สามารถใช้ประยุกต์ได้กับทั้งด้านผลิต การก่อสร้าง และวิศวกรรมยานยนต์ อีกตัวอย่างหนึ่งของความก้าวหน้าในเอไอ คือ กล้องอเนกประสงค์สำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติ ที่ได้อัลกอริทึมการประมวลภาพมาทำงานประสานกับเอไอ ผลที่ได้คือ กล้องอัจฉริยะสำหรับรถยนต์ ที่ทำงานได้หลายอย่าง ทั้งตรวจจับผู้คนที่สัญจรไปมา จดจำ และคาดเดาพฤติกรรมของผู้คนเหล่านั้นได้ในทันที
 
การเติบโตของธุรกิจในปี 2561 จำแนกตามกลุ่มธุรกิจ
ผลประกอบการของกลุ่มบ๊อชในปี 2561 ที่ผ่านมา ยอดขายของธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) ยังคงเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ทั่วโลก เมื่อดูจากตัวเลขเบื้องต้นพบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เป็น 4.7 หมื่นล้านยูโร หรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ส่วนกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ทำยอดขายได้ 1.78 หมื่นล้านยูโร ลดลงร้อยละ 3.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับแรงกดดันด้านราคาในตลาดหลักๆ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของ BSH Hausgeräte GmbH และกลุ่มธุรกิจสินค้าเครื่องมือไฟฟ้า เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 ทางด้านกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดากลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะเติบโตถึงร้อยละ 11 เลยทีเดียว โดยเฉพาะแผนกเทคโนโลยีขับขี่และควบคุมมีการเติบโตต่อเนื่องดี ในขณะที่บ๊อชมีแผนเตรียมจะขายธุรกิจเทคโนโลยีสำหรับบรรจุภัณฑ์ ด้านกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร มียอดขายอยู่ที่ 5.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 หรือร้อยละ 4.7 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว
 
คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจปี 2562 : หวังรักษารายได้ให้อยู่ในระดับสูง
สำหรับปี 2562 บ๊อชคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.3 ดร. อเซนเคียชเบาเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบ๊อช กล่าวว่า “เราคาดการณ์ด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยพิจารณาจากระดับความเข้มข้นด้านการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ประเด็น Brexit ที่ยังคงไม่มีบทสรุป อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการค้ามากมาย นอกจากนี้ ยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่แข็งกร้าวเกี่ยวกับการนำเข้า ด้วยการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าที่สูงลิ่ว หรือการยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยฉุดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุน” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ๊อชจะมีแผนการใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ แต่บริษัทฯ ก็หวังที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้มากกว่าภาพรวมของตลาดในปีนี้ เพื่อรักษาผลประกอบการของบริษัทฯ ให้อยู่ในระดับที่สูงให้ได้อีกครั้ง