นักลงทุนเอกชนไทยมั่นใจ EEC เป็นกุญแจสำคัญ เพิ่มศักยภาพไทยในเวทีโลก

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 695 Reads   

ในขณะที่ EEC เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก สำหรับนักลงทุนในประเทศไทยเองก็ให้ความสนใจกับ EEC ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ชี้เป็นการลงทุนที่สำคัญในระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในระดับโลกได้ ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับในชุมชนท้องถิ่น

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลับมามีศักยภาพด้านการแข่งขันในเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง เพราะไทยไม่ใช่ประเทศแรงงานราคาถูก และต้นทุนต่ำอีกต่อไป ซึ่ง EEC ทำให้เกิดการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐานครั้งใหญ่และเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค จึงนับเป็นการลงทุนระยะยาวในอนาคต ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนครั้งใหญ่ นักลงทุนเริ่มมองหาทางเลือกในการลงทุน และหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนใน EEC โดยเฉพาะด้านนิคมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายขณะนี้ก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อจูงใจให้นักลงทุนเหล่านี้เข้ามาลงทุนให้ได้ รวมถึงการเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพราะขณะนี้ ประเทศไทยไม่ได้ต้องการแรงงานที่มีฝีมือเท่านั้น แต่ยังต้องการแรงงานที่มีความรู้ด้วย จึงเสนอให้มีกลไกที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยในระยะยาว ขณะเดียวกัน สิ่งที่ไทยยังขาดแคลนก็คือ การลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนอย่างมากจากภาครัฐ เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  เป็น 1 ใน 4 ธุรกิจหลักของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป โดยดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ส่วนอีก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม, บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน และบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอกว่า 9 แห่ง มีเนื้อที่รวมกันกว่า 35,074 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ EEC ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 (WHA CIE 1), นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 (WHA CIE 2), นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง (ESIE),  นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 (WHA ESIE 1), นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2), นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3), นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE 4), นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก มาบตาพุด (WHA EIE) และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง (WHA RIL)

ขณะที่ ข้อมูลจากรายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasitbility Study) การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรม โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง  (WHA IER) ระบุว่า บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จำกัด มีแผนที่จะพัฒนาและยกระดับโครงการ WHA IER พื้นที่รวมประมาณ 2,037 ไร่ ในตำบลหนองบัว และตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ประกอบด้วย การบินและโลจิสติกส์, หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, ยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ด้วย

สำหรับแผนพัฒนาที่ดินของ WHA IER แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก, พื้นที่สีเขียว, เขตพาณิชยกรรม และอื่นๆ ประมาณ 529 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไปเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกราว 1,498 ไร่ โดยการจัดสรรพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษแบ่งได้ ดังนี้  

1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พื้นที่ประมาณ 623 ไร่ คิดเป็น 41.59% ของพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไป ประมาณการเงินลงทุนจากผู้ประกอบการเป้าหมาย (ผู้ผลิตยางรถยนต์, ผู้ผลิตช้ินส่วนรถยนต์, ผู้ผลิตอุปกรณ์อัดฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง, ผู้ผลิตรถยนต์ไฮบริด) ราว 37,255 ล้านบาท
2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ พื้นที่ประมาณ 575 ไร่ คิดเป็น 36.38% ของพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไป ประมาณการเงินลงทุนจากผู้ประกอบการเป้าหมาย (ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน, ผู้ผลิตยางล้อเครื่องบิน และผู้ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน) ราว 29,440 ล้านบาท
3. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ คิดเป็น 20.03% ของพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไป ประมาณการเงินลงทุนจากผู้ประกอบการเป้าหมาย (ผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต และหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์) ราว 11,010 ล้านบาท รวมประมาณการเงินลงทุนจากผู้ประกอบการเป้าหมายรวมกันทั้งสิ้นกว่า 77,705 ล้านบาท

ด้าน นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า EEC มีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างศรีราชาและชลบุรี เป็นอย่างมาก โดยขณะนี้ EEC มีแผนที่ชัดเจนแล้ว โดยภาครัฐจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เพื่อความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ พร้อมยอมรับว่าการพัฒนาของ EEC ไม่เพียงดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทยเท่านั้น แต่ยังทำให้ไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างประโยชน์ต่อคนไทยในระยะยาว ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน จะเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น

“ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับ EEC แต่ต้องไม่ลืมเปิดพื้นที่ให้คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย และเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งจะตอบโจทย์ในเรื่องของแรงงานและการผลิตสินค้าในราคาที่สมเหตุสมผลและการขยายตลาดส่งออกใหม่ ๆ มากขึ้น”

นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของ EEC จะไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายถึงเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น เช่น กลุ่มสินค้าหัตถกรรม จนกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจลงทุนทำธุรกิจในท้องถิ่นอีกทาง 

ทั้งนี้ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI เป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศไทยในธุรกิจด้านสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการผลิต จำหน่ายและให้บริการด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดย SPI มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกอบธุรกิจการลงทุนในหุ้นบริษัทต่างๆ และการพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ โดยได้ดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม และรองรับการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจในเครือสหพัฒน์ ทั้งยังเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมให้กระจายออกไปยังส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด 4 แห่ง และหนึ่งในนั้นได้แก่ สวนอุตสาหกรรมศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ ขณะนี้กำลังมุ่งพัฒนาสู่ Smart Industrial Park เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0

ที่มา เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจากงานสัมมนา  Thailand Focus 2019 : “Embracing Opportunities - The Next Chapter” จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : www.eeco.or.th