4 สมาคมเหล็กร้องรัฐบาลสนับสนุน ใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐ

อัปเดตล่าสุด 17 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 641 Reads   

4 สมาคมเหล็กร้องรัฐบาล กำหนดนโยบายหนุนใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ สำหรับงานโครงการภาครัฐ หลังได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ พร้อมเสนอ 2 แนวทางคือ กำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตได้ในประเทศ และพิจารณาใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยสำหรับงานโครงการภาครัฐ
 
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการสมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน กล่าวว่า  4 สมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วย1) สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย  2) สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย  3) สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน  4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พณฯท่าน นายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านวิษณุ เครืองาม เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ (Local Content) สำหรับงานโครงการภาครัฐ  
ยกตัวอย่างโครงการภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา  โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค โครงการรถไฟฟ้า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ฯลฯ  รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และโครงการที่รัฐให้สัมปทาน   ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลี และอินโดนีเซีย ได้มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวแล้ว
 
ทั้งนี้ กลุ่ม  4 สมาคมผู้ผลิตเหล็ก ได้เสนอมาตรการในการแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดในประเทศไทยในการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ (Local Content) สำหรับงานโครงการภาครัฐใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.พิจารณากำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตได้ในประเทศสำหรับงานโครงการภาครัฐ (นับตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น วัตถุขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป หากมีผู้ผลิตในประเทศ) 

2. พิจารณาใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยสำหรับงานโครงการภาครัฐ

นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า หากนโยบายดังกล่าวได้มีการบังคับใช้จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลิตและบริโภคเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินและปัจจัยการผลิตต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการนำเข้า เกิดการสร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต เช่น ธุรกิจขนส่ง งานบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกทางหนึ่ง สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งเป็นการลดการขาดดุลทางการค้าจากนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ 
 

“ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะชะงักงันของธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ผลิตในประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาอุปสงค์ที่เกิดจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเป็นหลัก ดังนั้นหากรัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศออกมา ก็จะช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศเพิ่มการใช้กำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 12 ล้านตัน แต่มีการบริโภคเพียง 5 ตันเท่านั้น” นายประวิทย์ กล่าว 

อย่างไรก็ตามกลุ่มสมาคมผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ได้มีโอกาสเรียนชี้แจงรายละเอียดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศ แก่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในเบื้องต้นแล้ว

นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมเหล็กถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก  ด้วยเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญของประเทศหลายอุตสาหกรรม เช่น  อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการหดตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมอื่นๆ  

นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล็กยังต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาทุ่มตลาดจากต่างประเทศ ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากผลพวงของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีสินค้าเหล็กราคาต่ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ไหลทะลักเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยมากขึ้น  ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กสุทธิรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2561 มีปริมาณการบริโภคสินค้าเหล็กในประเทศ 19.3 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 12 ล้านตัน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียงร้อยละ 38 เท่านั้น 

ในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก เช่น กรณีสหรัฐอเมริกา กำหนดเป้าหมายการใช้อัตรากำลังการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 กรณีประเทศอินเดีย ได้มีการจัดตั้งกระทรวงเหล็ก (Ministry of Steel) เพื่อดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ กรณีประเทศสาธารณรัฐเกาหลีที่มุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจริงจังและมีคำขวัญว่า “เหล็กคืออำนาจแห่งชาติ (Steel is national power)”  และประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศให้อุตสาหกรรมเหล็กเป็นแม่ของอุตสาหกรรมอื่นๆ (Mother of Industries)