กนอ.จ่อปล่อยเช่าพื้นที่พัฒนานิคมแม่สอด

อัปเดตล่าสุด 17 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 772 Reads   

กนอ.จ่อเปิดให้ผู้สนใจร่วมทำนิคมแม่สอด ใช้รูปแบบเช่าพื้นที่ต่อ หรือ PPP หลังประเมินต้องใช้งบฯมากกว่า 1,000 ล้านบาท สูงกว่างบฯที่มี ล่าสุด EIA ผ่านฉลุย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมฯ (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด ครั้งที่ผ่านมาได้รับทราบแผนการดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตากแล้ว แต่ด้วย กนอ.ยังขาดงบประมาณดำเนินงานซึ่งอาจต้องของบประมาณจากรัฐมาสนับสนุน ดังนั้น เบื้องต้นที่ประชุมจึงให้ กนอ.กลับไปศึกษารูปแบบการลงทุนใหม่ที่อาจใช้รูปแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) และให้นำมาเสนอบอร์ดภายใน 3 เดือน

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมบอร์ด กนอ.พิจารณาแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) แม่สอด  จ.ตากแล้วว่าต้องใช้งบประมาณเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงมอบให้ กนอ.กลับมาพิจารณากำหนดรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม

“เป็นไปได้ที่จะใช้วิธีเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ต่อจาก กนอ. หรืออาจใช้รูปแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งในวิธีแรก คือ เปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเพื่อเช่าพื้นที่ต่อจาก กนอ.น่าจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ทั้งหมด เพื่อจัดทำนิคมอุตสาหกรรม สอดคล้องกับแผนของ กนอ. และขณะนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด จ.ตาก พื้นที่ประมาณ 863 ไร่ ได้ผ่านหรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอกรมธนารักษ์ส่งมอบพื้นที่ให้ หลังจากนั้น กนอ.จะเข้าไปเช่าพื้นที่ หากมีผู้สนใจจะลงทุนทำนิคมดังกล่าวก็จะให้เช่าต่อ”

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวยังไม่ตกผลึก และต้องรอเข้าเสนอให้คณะกรรมการการนิคมฯ (บอร์ด กนอ.) เป็นผู้พิจารณา แต่หากแผนดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2564 แม้จะไม่ทันตามแผนเดิม คือ 2563 แต่ก็ยืนยันว่านิคมอุตสาหกรรมนี้จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ตามนโยบายรัฐ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและเปิดการค้าในพื้นที่ชายแดนได้มาก

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจ.ตาก จะมีพื้นที่ 14 ตำบลที่ติดชายแดนใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สอด  อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด รวม 1,419.0 ตร.กม. (886,875 ไร่) ซึ่งมีด่านชายแดนแม่สอดเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับเมืองเมียวดี สหภาพเมียนมา ที่มีมูลค่าการค้าไทย-เมียนมาเป็นอันดับ 1 (ไม่รวมสังขละบุรี ซึ่งมีการนำเข้าก๊าซ)

และจากรายงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าว่า ปัจจุบัน ณ เดือน พ.ย. 2562 มีการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จำนวน 30 โครงการ มูลค่า 3,873.80 ล้านบาท และเป็นการจะจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 909 ราย มูลค่า 1,869.25 ล้านบาท

ในขณะที่การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมโครงข่าย, ทางหลวงตาก-แม่สอด ช่วง 1-3 (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร), อาคาร
ผู้โดยสารหลังใหม่ ทางขับ และลานจอดท่าอากาศยานแม่สอด และในส่วนของการพัฒนา ในพื้นที่พัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กรมธนารักษ์จะให้ กนอ.เช่า โดย กนอ.ออกแบบนิคมอุตสาหกรรมแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และจะเสร็จปี 2564 ส่วนที่ 2 กรมธนารักษ์ให้เอกชนเช่า และอยู่ระหว่างสรรหานักลงทุน

โดยต้องการผลักดันให้ SEZ ตาก เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยมีกิจการเป้าหมายสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร-ประมง อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน อุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก กิจการโลจิสติกส์ นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น