ช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล กลยุทธ์ PR และ Communication
เผย ช่องทางการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร แผน PR รวมถึงตัวอย่างและวิธีการประชาสัมพันธ์ ในโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักประชาสัมพันธ์ดิจิทัล ยุคอุตสาหกรรม 4.0” รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 จัดโดยสำนักข่าวออนไลน์ เอ็ม รีพอร์ต
โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักประชาสัมพันธ์ดิจิทัล ยุคอุตสาหกรรม 4.0” รุ่นที่ 1 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.นิวัต วงศ์พรหมปรีดา กรรมการบริหารสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และคณะ นำโดย คุณวิลาสินี โฆษจันทร ร่วมด้วย คุณศริญญา แสนมีมา และ คุณวีณา ธูปกระแจะ
การประชาสัมพันธ์กับการโฆษณาต่างกันอย่างไร ?
การโฆษณาและประชาสัมพันธ์นั้นมีบทบาทสำคัญในการวางแผนด้านการตลาดที่แตกต่างกัน การโฆษณาเป็นเรื่องของธุรกิจที่เน้นการขายโดยเฉพาะ เพื่อหวังให้เกิดผลกำไรมากที่สุด เช่น การโฆษณากระตุ้นยอดขายเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะต้องมีการใช้งบประมาณบางส่วนในการวางแผนและจัดทำการโฆษณา
ส่วนการประชาสัมพันธ์จะเน้นเรื่องการติดต่อสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพพจน์ขององค์กร โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้และความคิดเห็น เป็นการจูงใจให้ได้รับการสนับสนุนหรือสื่อสาร เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก โดยไม่ให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจติดภาพที่เน้นการขายมากจนเกินไป
ยุค DIGITAL ต้อง PR อย่างไร?
- เลือกเครื่องมือสื่อสารตรงวัตถุประสงค์
จากพฤติกรรมการสื่อสารของคนไทยในปี 2561 โดยข้อมูลจาก ETDA ระบุว่า คนไทยมีการบริโภคสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตในปี 2561 มากถึง 10 ชั่วโมง 5 นาที ต่อวัน ซึ่งแต่ละช่องทางการบริโภคก็จะมีปริมาณการใช้งานแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล โดยผู้สื่อสารจำเป็นจะต้องรู้จักช่องทาง และเครื่องมือการสื่อสารให้ดีเสียก่อน
- รู้จักสื่อ
ประเภทของสื่อในการประชาสัมพันธ์ในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะบริโภคสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อออฟไลน์ ด้วยเงื่อนไขด้านความรวดเร็วและความสะดวกสบาย ทั้งนี้ทั้งนั้นสื่อสองประเภทนี้ก็มีกรอบการใช้งานที่แตกต่างกัน สื่อบางประเภทหากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แบบออฟไลน์ก็จะเข้าถึงผู้ใช้ได้มากกว่าในบางรูปแบบ เพราะฉะนั้นผู้ทำประชาสัมพันธ์จะต้องรู้จักประเภท รูปแบบและขอบเขตการใช้งานอย่างถูกต้อง จึงจะเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งจำเป็นจะต้องรู้วิธีการทำงานของสื่อ เวลาปิดข่าว การประชุมข่าว การคัดเลือกข่าว เพื่อให้ผู้ทำประชาสัมพันธ์สามารถส่งข่าวเข้าไปให้สื่อได้ทันท่วงที รวมถึงรูปแบบการนำเสนอที่เหมาะสมกับข่าว เช่น ข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ หรือออนไลน์
ความต้องการของสื่อมวลชนในด้านข้อมูลข่าวสาร
แหล่งข่าวของผู้สื่อข่าวในประเทศจะมีอยู่ 2 แหล่ง หลัก ๆ ก็คือ
งานแถลงข่าว คือ การจัดงานสื่อมวลชนโดยผู้ให้ข่าวเชิญนักข่าวมารับข่าว ในการแถลงข่าวนั้นอาจมีผู้ให้ข่าวจำนวนหนึ่งคนหรือมากกว่า ที่อาจให้ผู้รายงานข่าวถามคำถาม โดยข้อมูลคร่าว ๆ ที่ผู้สื่อข่าวต้องการ ก็คือ รายละเอียดที่จะแถลง แหล่งที่มาของข้อมูลอ้างอิง ผลวิจัย จุดประสงค์และเป้าหมายโครงการ และผลกระทบที่มีต่อสังคม
ข่าวในกระแส คือ ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม หรือกรณีที่เกี่ยวข้องกับองค์กร หน่วยงานบริษัท โดยสื่อจะใช้วิธีการสอบถามความคิดเห็น ผลกระทบ แผนการรับมือกับประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งข่าวอื่น ๆ ที่ผู้สื่อข่าวจะใช้หาข้อมูลนำเสนอ
สัมภาษณ์พิเศษ คือ บุคคลใดก็ตามที่สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข่าวที่จะต้องการนำเสนอ
โซเชียลมีเดีย จะเป็นแหล่งข่าวที่ผู้สื่อข่าวจะใช้นำมาประกอบการพิจารณากระแสข่าวที่อยู่ในสังคม
เว็บไซต์ จะเป็นแหล่งที่ผู้สื่อข่าวใช้หาข้อมูลเชิงลึกในองค์กร หรือ บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับข่าว
เอกสาร จะเป็นแหล่งที่สื่อใช้หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ
คุณสมบัติของข่าวที่ดี
- ความถูกต้อง (Accuracy) ทั้งในด้านเนื้อหาและระยะเวลาที่เหมาะสม
- ความสมดุล (Balance) ไม่เอียนเอียง หรือมีเนื้อหาเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
- ความเที่ยงตรง (Objectivity) ไม่บิดเบือนเนื้อหาข่าว
- เข้าใจง่าย ชัดเจน (Conside) สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
- ความใหม่สด (Fresh) ทันต่อเหตุการณ์
- ข่าวต้องมี 5W 1H คือนำเสนอให้ชัดเจนว่า ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร
โครงสร้างของข่าว
พาดหัวข่าว/Headline จะเน้นให้ สั้น กระชับ ได้ใจความ และเข้าใจง่าย
ความนำ/วรรคนำ/โปรยหัว/Lead - เป็นข้อความเกริ่นของข่าวนั้นๆ ไม่ควรเกิน 3 บรรทัด
เนื้อหา/Body
จะประกอบไปด้วยประเด็นหลักที่จะสื่อสาร และตามด้วยประเด็นสนับสนุน ซึ่งบุคคลในข่าวไม่ควรเกิน 2 คน ถ้าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์จะต้องใส่ การใส่ชื่อตำแหน่งบุคคลในข่าว (ระบุชื่อตำแหน่งชัดเจน) ส่วนเนื้อหาอื่น ๆ เน้นให้ครอบคลุม ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เนื้อข่าวไม่ควรจะยาวเกินไป ต้องมีความกระชับ ได้ใจความ และต้องตรวจเช็คความถูกต้องของชื่อบุคคล ชื่อองค์กร และอื่น ๆ อีกทั้งถ้าเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ควรจะมีช่องทางการสอบถามและติดต่อเพิ่มเติม
การใช้ Illustrator ในการประชาสัมพันธ์
Illustrator ในการทำประชาสัมพันธ์ เป็นวิธีการที่ดีและเข้าถึงคนได้มากที่สุดในปัจจุบัน เพราะหากบุคคลหนึ่งมีเวลาเพียงแค่ 8 วินาที ก็สามารถรับสารที่ผู้ส่งสารส่งไปโดยได้ข้อมูลมากกว่าการอ่าน อีกทั้งยังสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่พบเห็นได้มากกว่าเนื้อข่าวที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาศัยการออกแบบภาพ Illustrator ให้มีความสวยงาม ทันสมัย และเข้าใจง่าย
TRENDS & HASHTAG
Hashtag คือ คำหรือประโยคที่มีเครื่องหมาย “#” นำหน้าคำหรือประโยคนั้น ๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ Metadata Tag ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายใน Social Media ต่าง ๆ จุดประสงค์ของ Hashtag มีเอาไว้เพื่อการรวมเนื้อหาหรือเรื่องราว บทความที่มีความใกล้เคียงคล้ายคลึงกันมารวมกันเอาไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย เพียงแค่ใส่คำหรือประโยคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการสื่อสารเอาไว้ต่อท้ายสัญลักษณ์ “#” นี้เท่านั้น ในแง่ของการทำประชาสัมพันธ์ Hashtag จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ได้ เพื่อจุดประสงค์ในการโปรโมทสินค้า โดยใช้ hashtag ที่เฉพาะเจาะจงต่อกลุ่มเป้าหมายได้ และเมื่อผู้บริโภคค้นหา hashtag ที่เราตั้งไว้ ก็มีโอกาสที่เขาเหล่านั้นจะค้นพบกับแบรนด์สินค้า เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆผ่านการแบ่งปันข้อมูลของผลิตภัณฑ์
ข้อควรระวังในการใช้ Hashtag
1. ไม่ควรใส่ Hashtag ลงในทุก ๆ คำของโพส หรือใส่ Hashtag มากจนเกินไป
2. ไม่ควรใส่ Hashtag เป็นประโยคยาว ๆ ที่ติด ๆ กัน
3. ระวังการสะกดคำใน Hashtag หากสะกดผิด ก็จะทำให้หาแฮชแท็กนั้นไม่เจอเลย
CALL FOR ACTION
คือการกระทำใด ๆ ที่จะช่วยเรียกหรือกระตุ้น ให้เกิดการลงมือกระทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนตอบสนองต่อข้อเสนอของเรา สำหรับโลกธุรกิจ เช่น ให้สมัครสมาชิก, ให้ซื้อของ, ให้แชร์ต่อบอกต่อ กระทำโดยส่งสารถึงผู้บริโภค เช่น การแจกของเมื่อกดไลค์เพจ หรือแอดไลน์
การเกาะกระแสสังคมในการทำการตลาด
ความนิยมของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง การใช้โอกาสทำประชาสัมพันธ์จากกระแสที่คนในสังคมกำลังสนใจ จะช่วยให้คนในสังคมรับรู้สารที่เราจะสื่อได้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้กระแสละครยอดนิยมในช่วงนั้นในการทำประชาสัมพันธ์
จับเครื่องมือที่เรามี และเปิดคลังข้อมูลที่สะสมมา เขียนงานออกมา ทดลองกับแพตฟอร์มแต่ละประเภท ไม่มีตำราเล่มไหนเลย ที่อ่านแล้วจะเข้าใจโลกโซเชียลและสังคมแห่งยุคดิจิทัลได้ทั้งหมด เราเท่านั้น ที่จะต้องทำหน้าที่ทดลองและวัดผล เพราะนี่คือการสื่อสารแห่งยุคดิจิทัล ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี สอดคล้องไปด้วยความรวดเร็วปัจจุบันทันด่วน เช่นนี้เราจึงต้องมีกระบวนการเช็คข้อมูลที่รอบคอบแม่นยำ การสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว ไม่สำคัญเท่ากับการสื่อสารที่ถูกต้อง เพราะเร็วแล้วผิดคือติดลบ
#ช่องทางการประชาสัมพันธ์ #การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล #กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ #ช่องทางประชาสัมพันธ์ #ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์องค์กร #แผน pr ตัวอย่าง #วิธีการประชาสัมพันธ์ #pr plan ตัวอย่าง #ประชาสัมพันธ์องค์กร #ตัวอย่างการประชาสัมพันธ์