กนอ.เผยสถิติยื่นลงทุน 10 เดือน สร้างเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นลบ.

อัปเดตล่าสุด 11 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 675 Reads   

“กนอ.”เผยสถิติยอดการขอใบอนุมัติ-อนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานในรอบ 10 เดือน ตั้งแต่ ต.ค.61 - ก.ค. 2562 มีผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม New S curve–S curve ยื่นคำขอใช้ที่ดินใหม่ - ขยายกิจการลงทุนเพิ่ม 90 ราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 21,142.83 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 3,978 คน ชี้ปัจจัยหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล - ความชัดเจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี  

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการเข้ามายื่นคำขอใบอนุมัติ - อนุญาตในการใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการทั้งกิจการใหม่และขยายกิจการในนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 56 แห่ง ทั่วประเทศ ในรอบ 10 เดือน (ต.ค.2561-ก.ค.2562) ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ประกอบการที่เข้ามายื่นคำขอใบอนุมัติ - อนุญาตใช้ที่ดินเพี่อประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการ รวมทั้งสิ้น 90 ราย แบ่งออกเป็น นิคมฯ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 66 ราย และนิคมฯ นอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 24 ราย ทำให้เกิดมูลค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้น 21,142.83 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3,978 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (ต.ค.60-ก.ค.61) อยู่ที่ 99 ราย แม้ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีความแน่นอน ผนวกกับค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้น กนอ.เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวไม่มีผล กระทบต่อการลงทุนในนิคมฯ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Mega-project ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้นักลงทุนที่ยังชะลอการลงทุนมีการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯ ไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่เข้ามาติดต่อยื่นคำขอใบอนุมัติ - อนุญาตการใช้ที่ดินในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดให้การสนับสนุนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (S-Curve) และ อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมยางพลาสติกและหนังเทียม อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เป็นต้น โดยการยื่นขอใช้ที่ดินจะอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกที่ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งระบบไม่ว่าจะเป็น ระบบราง ระบบถนน และระบบทางน้ำ

จากสถิติการเข้ามายื่นคำขอใช้ที่ดินในพื้นที่นิคมฯ ดังกล่าว ทำให้เห็นว่าทิศทางการลงทุนของไทยยังคงมีการขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งในและภายนอกประเทศ เช่น เทรดวอร์ หรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเองก็ตาม รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ที่อาจจะสงผลกระทบต่อการลงทุนในการขยายกิจการหรือการตั้งโรงงานใหม่ในอนาคต ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ในส่วนของ กนอ.ก็ได้มีการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก 

“จากมาตรการที่รัฐบาลได้มีการประกาศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงปัจจัยด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งสิทธิประโยชนด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี และการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ที่รัฐบาลเร่งดำเนินการจะส่งผลให้ภาพรวมการลงทุนมีทิศทางการเติบโตได้อย่างแน่นอน” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว