037-China-Take-Over-Rubber-Factory

ทุนจีนไล่ Take Over โรงงานไทย ยางแตะ “3 กก. 100 บาท”

อัปเดตล่าสุด 9 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 702 Reads   

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในช่วงสัปดาห์นี้ ที่ราคายางพาราแผ่นดิบในท้องถิ่นหลุดจากกรอบ 40 บาท/กก. ลงมาอยู่ที่ 37.90 บาท/กก. (ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2562) ส่งผลกระทบไปถึงราคาประมูลยางที่ตลาดกลางยางพาราสงขลา ปรากฏว่ายางแผ่นดิบมีราคาอยู่ที่ 39.50 บาท/กก. และราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 41.50 บาท/กก. เทียบกับราคายางพาราในช่วงเดียวกันของปีก่อน (สิงหาคม 2561) ราคายางแผ่นดิบท้องถิ่น-น้ำยางสด ณ หน้าโรงงานเฉลี่ยอยู่ประมาณ 41 บาท/กก. ขณะที่ราคาประมูลตลาดกลางยางพารา ยางแผ่นดิบ 42 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ประมาณ 44 บาท

ราคายางพาราข้างต้นแม้จะไม่ใช่ช่วงราคาที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ราคานี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเลวร้ายที่มีต่ออุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

ราคายางตกรูด

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ช่วงนี้ชาวสวนยางบางพื้นที่ขายยางได้ในราคา 3 กก. 99 บาท หรือแตะ 3 กก. 100 บาท โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ราคายางดิ่งหนักมาก โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยางราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องก็เพราะมีการแข่งขันส่งออกในราคาที่”ต่ำกว่า” ต้นทุนการผลิต จนส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางและโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง

ขณะที่ธนาคารเองก็ชะลอการปล่อยสินเชื่อเพราะ “แบงก์เขาก็ต้องป้องกันความเสี่ยง” จนเป็นสาเหตุให้โรงงานอุตสาหกรรมยางบางส่วนต้องชะลอการผลิต และบางแห่งก็ต้องปิดตัวเองลงไป หรือถ้าไม่ปิดตัวเองก็ต้องวิ่งหาผู้ร่วมทุนต่างชาติเข้ามาสนับสนุนทางการเงิน มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น บางโรงงานถึงขั้นถูก take over ไปเลยก็มีแล้วว่าจ้างคนไทยให้เป็นผู้แปรรูปผลิตยางโดยให้ราคา 5 บาท/กก.บ้าง

“ผมมองว่าทางออกก็คือ รัฐบาลต้องออกมาดำเนินการเชิญหลายฝ่ายเข้าร่วมหารือ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยาง-อุตสาหกรรมแปรรูปยางเพื่อส่งออก และสถาบันการเงิน มิเช่นนั้นคนไทยจะต้องขายกิจการกันหมด และกลไกราคายางก็จะถูกควบคุมโดยต่างชาติ ที่สำคัญคือ ต้องให้ธนาคารทำการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมยางมีกำลังซื้อและจะเดินไปได้” นายอุทัยกล่าว

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางส่งออกรายใหญ่ภาคใต้ กล่าวถึงสถานการณ์ทิศทางราคายางในตอนนี้ “ค่อนข้างหนักมาก” ทางกลุ่มเสนอขายยางไปยังต่างประเทศ “ก็ยังไม่มีคนรับซื้อและออร์เดอร์ก็ไม่เข้ามา” โดยเฉพาะจีนตอนนี้กำลังเร่งใช้ยางที่สต๊อกอยู่ในเมืองชิงเต่า “แนวโน้มทิศทางยางครึ่งปีหลัง 2562 ราคาทรงตัวและเคลื่อนไหว เช่น ยางแท่ง STR ประมาณ 1,250-1,300 เหรียญสหรัฐ/ตัน และยางรมควัน 1,400-1,500 เหรียญ/ตัน ตลาดโลกมันไม่ขับเคลื่อน”

แล้งซ้ำยางอีสานหนัก

ด้านสถานการณ์ยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าในภาคใต้เสียอีก เนื่องจากประสบกับปัญหาภัยแล้งเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ โดย นายธนากร จีนกลาง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ภัยแล้งในช่วงนี้ส่งผลกระทบต่อยางพาราในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นอย่างมาก บางต้นยืนต้นตายจนเกษตรกรต้องโค่นทิ้งเพราะไม่สามารถกรีดยางได้ ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้จากปกติหายไปมากกว่า 50% ขณะเดียวกัน ราคายางก็ขยับลดลงมากจนน่าแปลกใจ หลายบริษัทที่ผลิตยางส่งออกก็ถูกนายทุนจากจีนเข้ามา take over ซึ่งไม่ทราบปัจจัยที่แท้จริงของราคายางที่ปรับตัวลดลงในตอนนี้ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่

“ราคายางที่ตกต่ำลงมากในช่วงนี้ทางผู้ซื้อชาวจีนได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปี 2562 ยิ่งมาเจอแล้งในขณะนี้เกษตรกรต้องหยุดกรีดยางเพราะน้ำยางไม่ออก หากฝนไม่มาในช่วงนี้ภายในเดือนสิงหาคมจะไม่มีผลผลิตยางออกมาตลอดทั้งเดือน ถ้าฝนมาก็ยังพอไปได้ หากฝนไม่ตกก็หยุดยาว ส่วนฝนที่ตกลงมานั้นเป็นการตกเป็นจุด ๆ ในบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้เป็นฝนตกหนักแต่อย่างใด ถ้าวิสาหกิจชุมชนของเราตอนนี้ราคายางก็ยังชะลอตัวอยู่” นายธนากรกล่าว

ตำนาน 5 เสือยางพาราไทย

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ชาวสวนยางพารากังวลอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่เพียงแค่ราคายางในตลาดโลกปรับตัวลดต่ำลงแต่เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังมีเรื่องของโรงงานยางภายในประเทศถูก take over จากนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักลงทุนจีน” ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ในอุตสาหกรรมยางพารารายใหญ่ของโลก

ความจริงที่ผ่านมาก็คือ บริษัทยางรายใหญ่ของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบริษัทที่เรียกกันว่า “5 เสือยางพาราไทย” กำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อ 2 ใน 5 บริษัท คือ บริษัทไทยฮั้วยางพารากับบริษัทเซาท์แลนด์รับเบอร์ ถูกทุนจีนซื้อไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 3 บริษัทมีข่าวว่ากำลังอยู่ในช่วงการติดต่อเจรจาทั้งข้อเสนอขอร่วมลงทุน-จ้างผลิต หรือขอซื้อกิจการทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยางพาราของไทย ได้ถูกกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาติดต่อโดยอาศัยช่วงจังหวะที่ราคายางในตลาดโลกตกต่ำมาอย่างยาวนานเข้ามาขอซื้อกิจการ ซึ่งบริษัทไทยเหล่านี้ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะธุรกิจยางมีความเสี่ยงสูงอยู่ในปัจจุบัน

ผู้ส่งออกยางรายใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งติด 1 ใน 5 อันดับของไทยให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยางภายในประเทศขณะนี้ว่า “จำนวนผู้เล่นคนไทยในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เทรนด์การเข้าซื้อกิจการของนักลงทุนต่างชาติก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทยตอนนี้ถ้าใครล้มจะถูก take over ทันที ถึงคุณไม่อยากขายก็จำเป็นต้องขายดีกว่าต้องปิดโรงงานไปเฉย ๆ”

จนกลายมาเป็นความกลัวของชาวสวนยางพาราที่ว่า ผู้ผลิตส่งออกยางไทยสัญชาติจีนเหล่านี้จะกลายเป็น “ผู้เล่น” รายหลักของประเทศในการเข้ามาควบคุมราคายางภายในประเทศ ในขณะที่ภาครัฐเองยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายประกันรายได้ให้กับชาวสวนยางต่อไป ซึ่งจะกลายเป็น “ช่องว่าง” ส่วนต่างระหว่าง “ราคาอ้างอิง” กับ “ราคาซื้อขายจริง” ให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาเล่นตลาดภายในประเทศได้อีก