รถคันต่อไปของคุณอาจเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ! ผปก.ไทยชูความพร้อมผลิต “อีวี คาร์” โชว์ศักยภาพอุตฯต่อเนื่องการผลิตรถไฟฟ้ารับการเติบโต ปี 63

รถคันต่อไปของคุณอาจเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ! ผปก.ไทยชูความพร้อมผลิต “อีวี คาร์” โชว์ศักยภาพอุตฯต่อเนื่องการผลิตรถไฟฟ้ารับการเติบโต ปี 63

อัปเดตล่าสุด 12 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 523 Reads   

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันกำลังมุ่งความสนใจไป “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” (Electric Vehicle: EV) ในยุคที่ราคาน้ำมันแพง และมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงหันมาสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษี ตามที่กระทรวงการคลังได้ประกาศลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEVs) นอกจากนี้การผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับผู้ผลิตท้องถิ่นผ่านการร่วมทุนกับผู้ผลิตในต่างประเทศ มาตรการการสนับสนุนเหล่านี้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการเติบโตจาก 76% ในปี 2561 ถึง 83% ในปี 2562 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนี้ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง อีกทั้งตอกย้ำความมั่นใจว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวในไม่ช้า

นายสรรเพชญ วันเฟื่องฟู ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ออปติคอล บริษัท มาร์โปส (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยรัฐบาลไทยมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นเวลากว่า 60 ปี อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของภาครัฐ ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ครอบคลุมรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEVs) โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 จะมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทสูงถึง 240,000 คัน หรือคิดเป็น 25% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด ในขณะที่มีการคาดการณ์ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทยจะสูงถึง 820,000 คัน ในปี 2566 เช่นกัน ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องพร้อมปรับตัวรองรับกระบวนการผลิตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และมีการผลิตชิ้นส่วนใหม่ ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบการจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System, BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (Drive Control Unit, DCU) อินเวอร์เตอร์ (Inverter) คอนเวอร์เตอร์ (Converter) ฯลฯ

นายสรรเพชญ กล่าวเพิ่มว่า การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่ ๆ สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หนึ่งในเทคโนโลยีการผลิตที่สำคัญคือ ระบบตรวจวัดมาตรฐานของชิ้นส่วนยานยนต์ และระบบควบคุมการผลิต ที่จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความปลอดภัยของชิ้นส่วนยานยนต์แต่ละชิ้น และส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยมาร์โพสเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ที่เป็นขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตั้งแต่ต้นน้ำ และพร้อมเสิร์ฟเทคโนโลยีการผลิตอันล้ำสมัยที่จะตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มองหา 2 ข้อ ได้แก่ 1) มาตรฐานการผลิต ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามหลักมาตรฐานสากล และ 2) การยกระดับเทคโนโลยีการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดใหม่ ๆ ที่ต้องการความละเอียดในการผลิตชิ้นงานที่สูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดสากล

เพื่อที่จะรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2563 มาร์โพสเตรียมส่งนวัตกรรมตรวจสอบการรั่วไหลของแบตเตอรี่ (equipment for leak testing) ซึ่งแบตเตอรี่ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในรถยนต์ไฟฟ้า และจำเป็นต้องตรวจสอบการรั่วไหลตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิต เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยการทำงานของระบบตรวจสอบการรั่วไหลของแบตเตอรีจะใช้ระบบวัดแรงดันด้วยก๊าซฮีเลียม แตกต่างจากระบบวัดแรงดันปกติซึ่งเป็นเทคโนโลยีการตรวจสอบแบบเก่า โดยการวัดแรงดันด้วยก๊าซฮีเลียมที่มีอนุภาคขนาดเล็กมาก จะสามารถอ่านค่าการรั่วไหลได้ละเอียดกว่า ช่วยให้ผู้ผลิตลดความเสี่ยงในการเกิดความคลาดเคลื่อนจากการวัดการรั่วไหล การลงทุนในนวัตกรรมการตรวจสอบคุณภาพสูงจึงเป็นหนึ่งในข้อควรคำนึงของผู้ผลิต โดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรีซึ่งเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูง หากผู้ผลิตมีการใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบขั้นสูงจะช่วยลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่อไป นายสรรเพชญ กล่าวสรุป

ด้าน มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลจากการประชุม Automotive Summit 2019 พบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มียอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวม 8,900 คัน และเพิ่มขึ้นเป็น 25,200 คันในปี 2561 สำหรับในปี 2562 นี้คาดว่ายอดการผลิตจะเติบโตถึง 36,000 คัน และจะเติบโตกว่า 50,000 คัน ในปี 2563 ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมอนาคตไกล ที่หากผู้ผลิตปรับตัวและก้าวเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็ว ก็จะคว้าโอกาสอันมหาศาลนี้ได้ก่อนใคร โดยเร็ว ๆ นี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมผลักดันผู้ผลิตไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตอันล้ำสมัยจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ผ่านการจัดงาน “ไวเออร์ แอนด์ ทูป เซ้าท์อีสท์เอเชีย 2019” มหกรรมรวบรวมสุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตลวดและท่อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องบิน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคของไทย รองรับการเข้าสู่สมาร์ทซิตี้ของไทยในไม่ช้า

“การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ใกล้ความจริงขึ้นทุกวัน ด้วยเป้าหมายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 และความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตของประเทศไทย ความท้าทายต่อไปคือการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่มีต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ว่าไม่ใช่เรื่องแห่งอนาคตอีกต่อไป” มร.เกอร์นอท กล่าวทิ้งท้าย