Cobots หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน  คาดตลาดโต 7 เท่า รับการผลิตยุคใหม่

Cobots หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน คาดตลาดโต 7 เท่า รับการผลิตยุคใหม่

อัปเดตล่าสุด 17 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 932 Reads   

โคบอทส์ กำลังได้รับความนิยมจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีของโคบอทส์ถูกพัฒนาให้สามารถทำงานที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม Mitsubishi Electric, Toshiba Machine, Epson จึงมีแผนรุกตลาดโคบอทส์ ฝั่งสำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุน ได้คาดการณ์มูลค่าตลาดจะเติบโตอยู่ที่ 4.11 แสนล้านเยนในปี 2025 คิดเป็น 7 เท่าของมูลค่าตลาดในปี 2018 

โคบอทส์ หรือ Cobots มาจากชื่อเต็มว่า Collaborative Robots หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน สามารถทำงานร่วมกับคนได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีเครื่องกั้น และสามารถติดตั้งลงในสายการผลิตได้ง่าย จึงได้รับความนิยมนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้อีกด้วย

Mitsubishi Electric พัฒนา Cobots แบบ 6 แกน รับน้ำหนักได้ 5 กก.

Mitsubishi Electric ตอบสนองต่อแนวโน้มนี้ด้วยการพัฒนาโมเดลทดสอบของโคบอทส์แบบ 6 แกน ที่รองรับน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวโมเดลจริงภายในปี 2019 นี้ โดยหัวหน้าแผนกเครื่องจักรของบริษัทฯ เปิดเผยว่า อยากนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นส่วนหนึ่งของ Cobots ในอนาคต โดยใช้ร่วมกับเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่าน และปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงรองรับการทำงานกับชิ้นส่วนที่ไม่เป็นระเบียบ และสามารถประกอบชิ้นงานที่มีความซับซ้อนได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Mitsubishi Electric ได้ร่วมลงทุนให้กับบริษัท Startup สัญชาติอเมริกัน เพื่อซื้อเทคโนโลยีการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และสามาถเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดมาใช้ในการพัฒนาโคบอทส์ ซึ่งมีกำหนดเริ่มการพัฒนาในปี 2020 เพื่อให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องหยุดรอมนุษย์อีกด้วย

Toshiba Machine เร่งพัฒนา Cobots 2 รุ่นใหม่ รองรับงานอเนกประสงค์

Toshiba Machine มุ่งไปที่การพัฒนา Cobot ให้สามารถทำงานในพื้นที่เดียวกันกับคนงานได้ง่ายทั้งหมด 2 รุ่น คือรุ่นที่มีขนาดสูงประมาณเอวมนุษย์แบบ 7 แกน แและจุดหมุนทั้งหมด 16 จุด และรุ่น SCARA (Selective Compliance Assembly Robot Arm) 9 แกน แบบ 4 แขน ซึ่งเน้นไปที่การทำงานแบบอเนกประสงค์ ซึ่งจำนวนแขนที่มากขึ้นจะช่วยให้การประกอบชิ้นงานทำได้อย่างราบรื่น และไม่ต้องใช้อุปกรณ์ยึดจับเพิ่มเติม

ผู้รับผิดชอบบริษัท Toshiba Machine กล่าวว่า การออกแบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้รองรับการใช้งานได้หลากหลายเช่นนี้ เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแบบใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

Epson มีกำหนดเปิดตัว Cobots แบบ SCARA แขนเดียว

ส่วนทางด้าน Epson มีกำหนดเปิดตัวโคบอทส์ภายในปีนี้เช่นเดียวกัน โดยเป็น Cobots แบบ SCARA แขนเดียว ซึ่งพบเห็นได้ไม่มากนัก จึงเป็นที่ถูกจับตามองว่า จะถูกนำไปใช้ในรูปแบบใด

สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุน คาดการณ์มูลค่าตลาดโคบอทส์

Fuji Keizai คาดการณ์ว่า ในปี 2025 ตลาด Cobots ทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.11 แสนล้านเยน มากกว่าปี 2018 ถึง 7 เท่า โดยเป็นผลจากความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ระบบอัตโนมัติ และปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มของการรุกตลาดโคบอทส์ของผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหลายรายทีจะหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้