สสว. ขานรับนโยบายรัฐบาล เสริมความแข็งแกร่งให้เอสเอ็มอีฐานราก คาดปี’63 GDP SME โต 3.0-3.5%

อัปเดตล่าสุด 11 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 904 Reads   
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยสถานการณ์ของธุรกิจในกลุ่ม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในปี 2562 GDP SME ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวม 7.41 ล้านล้านบาท คาดการณ์ปี 2563 GDP SME เติบโต 3.0-3.5 ปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนขนาดใหญ่ การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจ e-Commerce ขณะที่รัฐบาลเตรียมงบประมาณ 2,686 ล้านบาท เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของ SME ทั่วประเทศ คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 380,000 ราย 
 
 
ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ปี 2562 ที่ผ่านมา ว่า จากจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการ SME รวม 3,084,290 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 13,950,241 คน คิดเป็นร้อยละ 85.5 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของ SME ปี 2562 โดยข้อมูลในรอบ 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า การส่งออกของ SME มีมูลค่า 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 2.1 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ โดยประเทศคู่ค้าหลักของ SMEs ไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอียู โดย GDP SME มี 2562 มีมูลค่าประมาณ 7.41 ล้านล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นร้อยละ 3.5-4.0
 
ในด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการปี 2562 ในรอบ 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 พบว่า SMEs มีการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่ รวม 63,359 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.43 กิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการด้านวิทยุและโทรทัศน์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการยกเลิกกิจการ มีจำนวน 14,273 ราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.56 กิจการที่ยกเลิกสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป บริการนันทนาการ และอสังหาริมทรัพย์
 
ทั้งนี้แนวโน้มปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศ (GDP) จะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.7-3.2 ขณะที่การขยายตัวของ SMEs (GDP SME) จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โครงการลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่จากภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ทดแทนนักท่องเที่ยวจากจีน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ e-Commerce เป็นต้น 
 
“จากการประเมินสถานการณ์ของ สสว. พบว่า แม้ว่าในปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าหากยังมีความยืดเยื้อ การแข็งค่าของเงินบาท สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การขอสินเชื่อของ SME จากสถาบันการเงินยังคงทำได้ยาก รวมถึงกระแสของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือแย่งส่วนแบ่งของธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิม ฯลฯ แต่มีสัญญาณที่เป็นแนวโน้มที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการที่ภาครัฐระดมสรรพกำลังเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวก้าวทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผ่านแนวทางสำคัญที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้ SME ไทย เติบโตและอยู่รอดได้” ดร.วิมลกานต์ กล่าว 
 
โดยสัญญาณการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ไทย สู่เศรษฐกิจ Digital เห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ธุรกิจ Food delivery ซึ่งในปี 2562 มีการประมาณการมูลค่าของธุรกิจดังกล่าวรวมไม่น้อยกว่า 33,000-35,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เช่นเดียวกับธุรกิจปล่อยห้องพัก ผ่าน Platform Airbnb ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีรายได้จากการปล่อยห้องพักผ่าน Airbnb ในปี 2562 รวมมูลค่าถึง 33,000 ล้านบาท จำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นการปล่อยเช่าในเมืองรอบนอกกรุงเทพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า SME ไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่กระแสเศรษฐกิจดิจิทัลได้ค่อนข้างดี และจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพราะเป็นหนทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงตลาด เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว นอกจากเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนด้านการตลาดได้อีกด้วย 
 
ดร.วิมลกานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ SME โดยเฉพาะ Micro SMEs สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้ แนวทางการส่งเสริมในปี 2563 นี้ รัฐบาลจึงมุ่งสนับสนุนงบประมาณการส่งเสริม SME วงเงินรวมกว่า 2,686 ล้านบาท สสว.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ดำเนินงานผ่านแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล มีหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริม SME รวม 23 หน่วยงาน จาก 9 กระทรวง 1 รัฐวิสาหกิจ ดำเนินโครงการร่วมกันไม่น้อยกว่า 17 โครงการ มีงบประมาณรวม 1,738 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการที่การดำเนินงานโดย สสว. โดยตรงวงเงิน 948 ล้านบาท 
 
ภายใต้แผนส่งเสริม SME ในปี 2563 จะมุ่งเน้น 5 ด้านหลัก 1. สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้ดำเนินธุรกิจแบบ Smart MSME 2. ขับเคลื่อน MSME สู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล 3. พัฒนา Micro SME ให้ได้รับมาตรฐานสินค้า เข้าสู่ตลาดและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ 4. สร้างการตระหนักรู้ เรื่องการใช้ Data ให้เป็นประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจ (Data-Driven Entrepreneur) 5. ส่งเสริม MSME ที่ผลิตสินค้าให้ต่อยอดธุรกิจการค้าบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับรายได้ (Servitization)
 
อนึ่ง สสว.พบว่า ผู้ประกอบการ SME ไทย 3 ล้านรายทั่วประเทศ เมื่อนำเกณฑ์รายได้มาใช้พบว่า 2.6 ล้านรายเป็นธุรกิจไมโคร กล่าวคือมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือไม่เกิน 150,000 บาทต่อเดือน และจ้างงานไม่เกิน 5 คน ดังนั้น โครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในปี 2563 จึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ ไมโคร เป็นลำดับแรก 
 
โดยมี ศูนย์ OSS ของ สสว. ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการให้คำปรึกษาแนะนำและส่งต่อผู้ประกอบการให้ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน จากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ สสว. ยังได้สานต่อการพัฒนาฐานข้อมูลในรูปแบบเว็บไซต์กลาง (Web Portal) ภายใต้ชื่อ “SMEONE” หรือ www.smeone.info ซึ่งรวบรวมข่าวสาร ข้อมูล องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเชื่อมต่อบริการ กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในการส่งเสริม สนับสนุน SME ของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการเงินทีเกี่ยวข้อง และ Application SME Connext เป็นต้น 
 
ขณะเดียวกัน เพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริม ช่วยหลือให้ SME สามารถเข้าถึงมาตรฐานสินค้าและบริการได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นหนทางจะช่วยให้สินค้าของผู้ประกอบการ เข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น สสว. มีแนวทางจะประสานความร่วมมือกับ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ สสว. และกระทรวงการคลัง ในการขยายบทบาทการให้บริการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติมจากสินค้าเกษตรและอาหาร ไปสู่สินค้าอื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อียู เป็นต้น 
 
ภายใต้การดำเนินงานส่งเสริม SME ในปี 2563 ของ สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับความสามารถในการทำธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 380,000 ราย ทั่วประเทศ