ไฮสปีดเชื่อมลงทุน 3 ประเทศ ไทย-จีนจับมือดันมหานครการบิน

อัปเดตล่าสุด 4 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 545 Reads   

วาระของประเทศไทยถูกบรรจุไว้เป็น 1 ในการประชุม ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Forum for International Cooperation-BRF) ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผู้นำระดับสูง 38 ประเทศเข้าร่วม ในระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. 2562

“สี จิ้นผิง” ชูอีอีซีเชื่อม BRI 


โครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากกรุงเทพฯ-สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหัวใจของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน สี จิ้นผิง หยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง นายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรี


“นายสี จิ้นผิง ได้กล่าวชมไทยที่เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives (BRI) ทำให้โอกาสที่ไทยจะไปทำการค้าและการลงทุนเชื่อมโยงโดยตรงกับมณฑลต่าง ๆ ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและนักธุรกิจระดับมณฑลไปด้วย” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสร่วมคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเวทีประชุม


“ในการประชุมครั้งนี้รัฐบาลจีนให้เกียรติไทยสูงมาก แม้หลังการเลือกตั้งยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ แต่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะได้พบกับผู้นำของจีนถึง 3 คน คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี และนายหาน เจิ้น รองนายกรัฐมนตรี” 


นายสมคิดกล่าวด้วยว่า เดิมไทยไม่มีแผนงานและโครงการอะไรที่จะเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง แต่เมื่อรัฐบาลไทยริเริ่มเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี และผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากกรุงเทพฯไปภาคตะวันออก จึงเกิดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ไทยได้เชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีนที่ลงตัวและเป็นรูปธรรม


“จากนี้ไปต้องเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 4 โครงการ เน้นให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายที่ต่อเนื่อง เมื่อสนามบินอู่ตะเภาขยายตัวเต็มรูปแบบ รถไฟความเร็วสูงเกิด ใน 5 ปีนับจากนี้แผนต่อไป คือ Digital Infrastructure การลงทุน 5G ต้องเกิดขึ้น” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว


MOU เขตเศรษฐกิจเหอหนาน-อีอีซี 


นายสมคิดได้แจ้งให้รัฐบาลจีนทราบว่า ได้นำคณะฝ่ายไทยเดินทางมายังเมืองการบินเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เพื่อให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน ซึ่งทางรัฐบาลกลางของจีนได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จากที่ผ่านมาไทยได้เชื่อมกับฮ่องกง ซึ่งถือเป็นหัวขบวนของเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area : GBA และอีอีซีไว้แล้ว


“การที่คณะรัฐบาลไทยได้เดินทางมาจีนครั้งนี้ ทำให้โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจบได้ด้วยดี ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. และกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรสามารถตกลงรายละเอียดในสัญญาได้เรียบร้อย และส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนเข้าบอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรีก็จะสามารถลงนามในสัญญาได้ในเดือน มิ.ย.นี้” นายสมคิดกล่าว


ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างอีอีซีและรัฐบาลมณฑลเหอหนาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาศูนย์การบินคู่ขนาน และส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างเหอหนานกับอีอีซี โดยมีขอบเขตความร่วมมือในด้านการส่งเสริมโครงการศูนย์การบินคู่ขนานสำหรับประเทศจีนตอนกลางและอาเซียน การกระชับความร่วมมือในการวางแผนพัฒนาพื้นที่สนามบิน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ การขนส่งทางอากาศ การซ่อมบำรุงอากาศยาน การอบรมบุคลากร และการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยี


นอกจากนี้ ยังตกลงที่จะส่งเสริมการก่อตั้งศูนย์การบินมณฑลเหอหนาน ณ เขตเศรษฐกิจอากาศยานเจิ้งโจว เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติเจิ้งโจว และการพัฒนาเทคโนโลยี (หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม) และศูนย์การบินประเทศไทย ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก


รวมทั้งจะส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจลงทุนในพื้นที่แต่ละฝ่าย เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และจะอำนวยความสะดวกต่อกันในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดประชุม นิทรรศการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นในเหอหนานและในพื้นที่อีอีซี อีกทั้งเป็นการขยายความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ คมนาคม ธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นประตูสู่อาเซียน

ไฮสปีด-อีอีซี ลงทุนเชื่อม 3 ประเทศ 


นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การจบการเจรจาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้มีนัยสำคัญมากเพราะถือเป็นโครงการแรกของความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นในการออกไปลงทุนในประเทศที่ 3 เนื่องจากกลุ่มที่ได้โครงการนี้ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD), China Railway Construction Cor-poration Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)


“โครงการนี้อยู่ภายใต้การปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ที่ปล่อยกู้หัวรถจักรยี่ห้อฮิตาชิ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (ซีดีบี) ที่ปล่อยกู้การก่อสร้างราง ฉะนั้น ความสำคัญที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุนรถไฟความเร็วสูง แต่เป็นการโชว์ให้โลกเห็นความร่วมมือของการพึ่งพาประเทศในเอเชียด้วยกัน” นายคณิศกล่าว


เลขาธิการอีอีซีกล่าวด้วยว่า คาดว่าในเดือน พ.ค. 62 โครงการหลักทั้งหมด 4 โครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และสนามบินอู่ตะเภาจะจบกระบวนการได้ทั้งหมด 


“โครงการนี้กลายเป็นความสำเร็จของความร่วมมือของภาคเอกชน 3 ประเทศ ไทย-จีน-ญี่ปุ่น เป็นเรื่องใหม่ที่จะนำไปสู่การร่วมมือในโครงการอื่น ๆ ในอีอีซีต่อไป อาทิ เมืองอัจฉริยะ และเมืองใหม่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา หรือ จ.ชลบุรี ซึ่งในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้จะมีการประชุมร่วมระหว่างจีนและญี่ปุ่นอีกครั้งในการไปลงทุนในประเทศที่ 3 ขณะที่ประเทศไทยได้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าในภูมิภาคหลังจากหายไปเกือบ 20 ปี”