024-Mercedes-Benz-รถยนต์ไฟฟ้า-อุตสาหกรรมยานยนต์

“เบนซ์” ส่งซิกรัฐบาลไทย ช้าตกขบวน “รถอีวี” มาเลย์-เวียดนาม…จ้องขึ้นไลน์ผลิต

อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 691 Reads   

จากความตั้งใจเดิมที่นายใหญ่ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ไทยแลนด์ กำหนดเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า EQC อย่างเป็นทางการในบ้านเราในปีนี้ แต่แผนงานดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามหวัง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ รวมถึงการลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจธนบุรีประกอบรถยนต์ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขึ้นแล้วก็ตาม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือมีอะไรทำให้สะดุด ลองไปฟังคำต่อคำจากปาก “โรลันด์ โฟลเกอร์” ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
 

ยันรถอีวีอยู่ระหว่างเจรจา

ก่อนหน้านี้อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์จะไม่ลงทุนแล้วในไทย ซึ่งต้องบอกว่าเราลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไปแล้ว และเริ่มผลิตป้อนรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดในประเทศ ราว ๆ ต้นปีหน้าเราจะเชิญผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมโรงงานของเรา โรงงานนี้เราผลิตป้อนรถยนต์ตระกูล S560e, C300e และรุ่นล่าสุด E300e เราซัพพลายให้กับรถยนต์ที่ประกอบและผลิตในภูมิภาคนี้ พูดถึงสถานการณ์ของรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด

ถ้ามองเป็นเปอร์เซ็นเทจ ไทยเป็นเบอร์ 2 ของโลก มีสัดส่วน 20-30% เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศนอร์เวย์ เมื่อเทียบกับจำนวนที่ขายถือว่าไทยมีจำนวนสูงมาก ขณะที่จีนมีรถปลั๊ก-อิน ไฮบริดแค่ 2-3%

ดังนั้นบริษัทแม่จึงมุ่งลงทุนเพื่อประกอบรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดในประเทศไทย ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวียังต้องเจรจากับรัฐบาลอีก ซึ่งอาจมีความล่าช้าทำให้ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไปก่อน

แต่ไม่ได้ยกเลิกแค่ล่าช้าเท่านั้น ครั้งแรกเราหวังว่าภายในปี 2562 น่าจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในไทย แต่ด้วยข้อตกลงหลาย ๆ อย่างทำให้ล่าช้า ทุกวันนี้เรายังหารือกันอยู่เลยว่าจะมีรถยนต์ EQC เข้ามาขายกี่คัน และจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร

ฟันธงถ้าไม่คุ้มยังไม่ทำ

การจะขายรถยนต์ไฟฟ้านั้น สิ่งสำคัญ คือ ความพร้อมหลังบ้าน เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ดังนั้น

เจ้าหน้าที่เทคนิคที่อยู่ในเครือข่ายของเราต้องเรียนรู้ใหม่หมด โดยเฉพาะเครื่องมือต่าง ๆ ทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ และพาร์ตเนอร์ของเรา คือ ดีลเลอร์จะต้องลงทุนเพิ่มอีกระดับหนึ่งทีเดียว ดังนั้นหากเรานำเข้ามาขายน้อยไปจนไม่คุ้มกับการลงทุนก็คงต้องดีเลย์การแนะนำสินค้าออกไปจนกว่าเราจะพร้อม โอกาสที่จะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราก็ต้องขยับออกไปอีก

ส่วนดีลเลอร์ของเราถ้าทุกอย่างชัดเจนทุกคนคงกล้าลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ รองรับ เรามองว่าจำนวนที่น่าจะคุ้มค่าสำหรับรถ EQC นำเข้าอย่างน้อยต้องมีปีละ 500-600 คัน จากปัจจุบันที่เรามีดีลเลอร์ 34 แห่งทั่วประเทศ

หวั่นเพื่อนบ้านชิงลงมือผลิตรถอีวี

ปัญหาต่าง ๆ อยู่ที่มุมมอง รัฐบาลไทยอาจมองไม่เห็นว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ลงทุนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เราทำคือการลงทุนผ่านธนบุรีประกอบรถยนต์ ตลอด 25 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าเยอะมาก เป็นการลงทุนทางอ้อม และเราอยากให้รัฐบาลพิจารณาตรงนี้ด้วย และอยากให้มองอีกเรื่องคือ ชาติอื่น ๆ เริ่มขยับตัว ทั้งมาเลเซีย, เวียดนาม เขาพร้อมจะประกอบเองภายในประเทศ

ดังนั้นสิ่งที่ทีมผู้บริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ไทยต้องการทำคือ ต้องต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้

เราพยายามอธิบายภาพจากมุมมองที่เราทำให้รถปลั๊ก-อิน ไฮบริดจนเป็นเบอร์ 2 ของโลกแล้ว ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานมาอย่างดีที่จะต่อยอดไปสู่รถอีวี อีกประเด็นที่อยากให้รัฐบาลมองให้ขาด คือ รถยนต์ไฟฟ้านำเข้ามาจากจีน ซึ่งเสียภาษี 0% ตรงนี้กระทบกับการลงทุนของผู้ผลิตในประเทศแน่นอน และถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาบริษัทแม่อาจมีมุมมองอีกมุมว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็สามารถนำเข้ารถรุ่นนี้จากจีนมาทำตลาดได้ แล้วจะต้องลงทุนในไทยทำไม ถึงเวลานั้นที่เราบอกว่าเราจะเป็นฮับผลิตเพื่อส่งไปขายในภูมิภาคนี้ก็ไม่ใช่แล้ว

สุดท้าย…”โรลันด์ โฟลเกอร์” ย้ำว่า กว่า 1 เดือนเจรจาหารือกันในเรื่องนำเข้ารถยนต์ EQC มาขายในบ้านเรายังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และหากทุกคนจำได้เมื่อ 13 เดือนก่อนหน้านี้

ผมหวังจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า EQC ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งนี้ แต่ในที่สุดเรายังไม่สามารถทำได้