ไฮสปีดสายอีสาน-เจ้าสัว ซี.พี. เชื่อมอู่ตะเภา-เวียงจันทน์-คุนหมิง

อัปเดตล่าสุด 7 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 905 Reads   

คิกออฟโครงการคนละเวลา แต่ก็เป็นที่น่าจับตาว่ารถไฟความเร็วสูง 2 สายของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการโดย “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” และ “รัฐบาลประยุทธ์” สายไหนจะเปิดหวูดประเดิมเป็นสายแรก

ระหว่าง “สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย” เริ่มสร้างเฟสแรกถึงนครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของ 2 รัฐบาล ระหว่างไทยกับจีน

โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด ฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา คุมการก่อสร้าง ออกแบบและจัดหาระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบควบคุมการเดินรถ

ซึ่ง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้ปักธงสัญลักษณ์คิกออฟโครงการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่มอหลักหินรัชกาลที่ 5 ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ทั้งโครงการ ร.ฟ.ท.แบ่งสร้าง 14 สัญญา ปัจจุบันกำลังสร้าง 2 สัญญา เป็นงานถมคันดินช่วงแรก 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก มีกรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 70% จะเสร็จในเดือน มี.ค. 2563 และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่งก่อสร้าง เปิดหน้าดินก่อสร้างเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คืบหน้าแล้ว 5.38% จะเสร็จในเดือน ต.ค. 2563

อีก 10 สัญญาอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.อนุมัติ พิจารณาราคาประมูล ตรวจสอบข้อเสนอด้านราคา และอีก 2 สัญญารอเปิดประมูลและความชัดเจนแบบก่อสร้างจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของกลุ่ม ซี.พี.ที่มีพื้นที่ทับซ้อนช่วงดอนเมือง-บางซื่อ

สำหรับงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น 12,075.12 ล้านบาท จากเดิม 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท จากการย้ายขอบเขตงานระบบที่ซ้อนทับอยู่ในงานโยธา เปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จาก CHR 2G รุ่น Hexie Hao เป็น CR Series รุ่น Fuxing Hao ยังมีเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง ค่าประกันพัสดุจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ค่าประสานงาน จะเสนอ ครม.เศรษฐกิจวันที่ 1 พ.ย. คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญากับจีนภายในเดือน พ.ย.นี้

ถึงจะได้ผู้รับเหมาเกือบครบทุกสัญญา แต่การเดินหน้าก่อสร้างต้องรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติม คาดว่างานก่อสร้างจะเริ่มจริงจังในปี 2563 ใช้เวลาสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จในปี 2567 เปิดบริการในปี 2568 ช้าจากเป้าเดิมสร้างเสร็จปี 2564 เปิดบริการในปี 2566

สำหรับแนวเส้นทางพาดผ่าน 5 จังหวัดมี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับ 181.9 กม. ทางระดับพื้น 64.0 กม. และอุโมงค์ 6.4 กม.

จะใช้ระบบเทคโนโลยีของจีน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 535 บาทต่อเที่ยว ในอนาคตรัฐบาลไทยมีแผนจะสร้างเฟสที่ 2 จากนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 233,481 ล้านบาท เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่กำลังสร้างจากคุนหมิง-เวียงจันทน์

มาดูรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกหรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท มี บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) เป็นผู้หาเงินมาลงทุนสร้างให้รัฐก่อน แลกสัมปทานเดินรถ 50 ปี โดยรัฐจ่ายคืน 10 ปี วงเงิน 117,227 ล้านบาท

เพิ่งได้ฤกษ์เซ็นสัญญาวันที่ 24 ต.ค. 2562 ตามไทม์ไลน์จะเริ่มก่อสร้างหลัง ร.ฟ.ท.เคลียร์การส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จตามสัญญา โดยแบ่งสร้าง 3 ช่วง 1.พญาไท-สุวรรณภูมิ เริ่มได้ทันทีหากเอกชนจ่ายค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท 2.สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ใน 1 ปี 3 เดือนหรือไม่เกิน 2 ปี 3.พญาไท-ดอนเมือง ใน 2 ปี 3 เดือนหรือไม่เกิน 4 ปี

โครงการนี้นอกจากจะได้ทุนใหญ่เงินหนามาลงขันกันแล้ว ยังได้ 3 ยักษ์รับเหมามาเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบราง ทั้ง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC) จากจีน

ส่วนระบบและขบวนรถ มีข่าววงในระบุว่า กลุ่ม ซี.พี.กำลังมีอำนาจต่อรองกับบรรดาซัพพลายเออร์ หลังได้เซ็นสัญญา แม้ว่า “ศุภชัย เจียรวนนท์” แม่ทัพใหญ่ ยังไม่เฉลยจะใช้บริการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไหน ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และยุโรป

แต่ว่ากันว่ามีแนวโน้มสูงจะใช้ระบบ “ฮิตาชิ” จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1.75% จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ที่พร้อมจะซัพพอร์ตให้

“ระบบของฮิตาชิที่ ซี.พี.กำลังเจรจาไม่ใช่ระบบชินคันเซ็นที่เป็นระบบปิด แต่เป็นระบบเปิดตามมาตรฐาน ETCS จากยุโรป ที่ฮิตาชิผลิตให้ที่อังกฤษมาแล้ว ยังเป็นระบบที่เชื่อมกับระบบ CTCS ของจีนที่ใช้ในสายอีสานได้ เพราะจีนก็เรียนรู้ระบบจากยุโรปก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นของตัวเอง อยู่ที่ ซี.พี.เป็นผู้เลือก”

หากทุกอย่างเดินตามแผน จะเปิดบริการช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาได้ก่อนในปี 2566-2567 ส่วนช่วงพญาไท-ดอนเมืองเปิดในปี 2567-2568 ดูแล้วน่าจะเปิดบริการพร้อมกับรถไฟไทย-จีน

เผลอ ๆ อาจเป็นเอกชนรายเดียวกันที่บริหารการเดินรถจากโคราช-อู่ตะเภาก็ได้ เพราะรถไฟไทย-จีนท้ายที่สุดรัฐบาลอาจจะเปิดทางให้เอกชนมารับสัมปทานบริหารการเดินรถก็เป็นได้ เพื่อร่วมกันรับความเสี่ยงโครงการ