ซี.พี.-ปตท. ชนะไฮสปีด-มาบตาพุด EEC แก้เดดล็อก “อู่ตะเภา-แหลมฉบัง”

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 858 Reads   

หลัง “รัฐบาลทหาร” เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน PPP รับสัมปทาน 4 เมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 650,000 ล้านบาท ครบถ้วนรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก และสนามบิน หวังเป็นแม่เหล็กดูดการลงทุนจากนานาชาติลงพื้นที่ “อีอีซี-ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ภาคต่อจากอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยทำให้เศรษฐกิจ “โชติช่วงชัชวาล” มาแล้ว

ท่ามกลาง “การเมือง” กำลังผลัดใบสู่ “รัฐบาลใหม่” ทำให้เป็นที่จับตาจังหวะการเดินหน้าของแต่ละโปรเจ็กต์ จะถึงจุดหมายปลายทางอย่างสะดวกโยธินหรือไม่

ครม.อนุมัติไฮสปีด-ท่าเรือมาบตาพุด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหมดวาระรัฐบาลจะมี 2 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่อีอีซีที่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเซ็นสัญญา โครงการแรกคือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) เสร็จแล้ว

โดยเอกชนจะรับสัมปทานโครงการ 50 ปีในการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับได้สิทธิพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานี 2 แห่ง ซึ่งรัฐจะสนับสนุนเงินค่างานโยธาให้เอกชน 10 ปี รวมดอกเบี้ยอยู่ที่ 149,650 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท หลังงานก่อสร้างเสร็จใน 5 ปี ขณะที่เอกชนจะหาเงินมาลงทุนก่อสร้างให้ก่อน

ซี.พี.แบกดอกเบี้ย 2 หมื่นล้าน

“ร่างสัญญาผ่านการตรวจสอบจากอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่ง ซี.พี.ขอปรับเล็กน้อย แต่ไม่ผิดจากทีโออาร์ เช่น การส่งมอบพื้นที่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะให้ 50% เพื่อให้เริ่มงานได้ เช่น สถานีมักกะสัน จะส่งมอบให้ก่อน 100 ไร่ แต่ ซี.พี.บอกไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องการให้ส่งมอบ 100% ก็เข้าใจเอกชนเพราะต้องกู้เงินมาลงทุนก่อน 5 ปี รัฐจ่ายคืนปีที่ 6-15 ไม่อยากจะให้เกิดเหมือนกรณีโฮปเวลล์ที่จ่ายเงินไป สร้างไป เราทำตามที่อัยการสูงสุดบอกคือให้เอกชนสร้างให้เสร็จก่อน ถึงจ่ายเงิน เอกชนมีต้นทุนการเงินแพงขึ้น 2 หมื่นล้านบาท จากที่งานโยธาจะใช้เงินก่อสร้างกว่า 1 แสนล้านบาท”

อีกโครงการคือ ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 มูลค่า 55,400 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ฯและพีทีที แทงค์ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว คาดว่าจะเสนอให้ ครม.อนุมัติวันที่ 4 มิ.ย.นี้ หลัง ครม.ให้เจรจากับเอกชนต่อรองข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทนจากเดิมที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องทยอยคืนเงินให้เอกชน หลังลงทุนถมทะเล 1,000 ไร่ ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยเอกชนคิดดอกเบี้ยที่ 4.8% เป็นเงิน 720 ล้านบาท/ปี ตลอด 30 ปี จากอัตราดอกเบี้ย 2.5% เป็นเงินเพียง 600 ล้านบาท/ปี จะทำให้ผลประโยชน์ที่ กนอ.จะได้รับเหลือ 6,606 ล้านบาท ลดลง 29% หรือ 2,705 ล้านบาท จาก 9,311 ล้านบาท

ก.ค.เซ็นสัญญามาบตาพุดเฟส 3

ล่าสุดเจรจาเอกชนจะจ่ายเงินร่วมลงทุน 710 ล้านบาท/ปี จากเดิม 720 ล้านบาท/ปี รวมผลประโยชน์ที่ กนอ.จะได้รับจากโครงการเพิ่มขึ้น 6,721 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 6,606 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดอีอีซีมีมติให้รอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอ ครม.

“หาก ครม.อนุมัติจะเข้าสู่ขั้นตอนการร่างสัญญา ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จวันที่ 19 มิ.ย.นี้ จากนั้นบอร์ดอีอีซีจะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาภายในวันที่ 22 มิ.ย. และเสนอ ครม.พิจารณาผลการคัดเลือกได้ภายใน 9 ก.ค. และจะลงนามสัญญาได้”

อู่ตะเภาติดหล่มศาล-บิ๊กตู่สั่งเคลียร์ให้จบ 7 วัน 

นายคณิศกล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 4 โครงการในอีอีซี ล่าช้าจากแผนงาน 2-3 เดือน เนื่องจากมีปัญหามากกว่าที่คิด มีการฟ้องร้องศาลปกครอง เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดไว้ เป็นสิทธิของ ซี.พี.ที่จะยื่นฟ้อง โดย ซี.พี.ยื่นขอให้ศาลสั่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเปิดซองที่ยื่นไม่ทัน คาดว่าทุกอย่างน่าจะจบเร็ว ๆ นี้

นายคณิศกล่าวว่า เพื่อเคลียร์ให้ทุกอย่างจบโดยเร็ว ล่าสุดบอร์ดอีอีซีมีมติให้ตั้ง “คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนของโครงการ EEC-Project List” ตามที่ฝ่ายกฎหมายของอีอีซีที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ให้คำแนะนำว่าบอร์ดอีอีซีควรรับอุทธรณ์ของเอกชน เพราะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกที่ถูกฟ้องโดยเอกชน ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจเหนือคณะกรรมการคัดเลือกจึงเป็นบอร์ดอีอีซี ที่จะต้องรับเรื่องอุทธรณ์ดังกล่าว

“เมื่อรับเรื่องอุทธรณ์มา ยังไม่มีใครช่วยกลั่นกรองข้อมูล จึงเห็นควรตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา ลดภาระงานของบอร์ดอีอีซี ดังนั้นสำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภาแม้ศาลจะยังไม่มีคำตัดสิน แต่คณะอนุกรรมการก็สามารถเอาประเด็นร้องเรียนของกลุ่ม ซี.พี.มาพิจารณาคู่ขนานไปกับศาลได้ ส่วนกระบวนการคัดเลือกเอกชนก็ยังทำได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าจะประกาศผลการคัดเลือกไม่ได้ ต้องรอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาก่อน ซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะมีคำพิพากษาเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่มีมติให้รับเรื่องอุทธรณ์ โดยนายกรัฐมนตรีให้เวลาคณะอนุกรรมการกลั่นกรองทั้ง 2 เรื่องภายใน 7 วัน อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนกำหนดได้ตัวเอกชนสำหรับทั้ง 2 โครงการไว้ภายในเดือน มิ.ย. แต่อาจจะเลื่อนออกไปจากกรอบเดิมเพียงเล็กน้อย”

เร่ง EIA-ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด

แม้ ครม.จะประทับตรา แต่การลงนามสัญญานับหนึ่งก่อสร้างโครงการนั้น “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกระบุว่า หลัง ครม.อนุมัติโครงการแล้ว จะเป็นขั้นตอนของการลงนามสัญญาร่วมกับกลุ่ม ซี.พี. แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติ ขณะนี้ส่งรายงานอีไอเอเพิ่มเติมให้คณะกรรมการอีไอเอแล้ว คาดว่าจะพิจารณาได้ทันลงนามสัญญาตามเป้าภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้