การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ต้องยึดโยงกับสิ่งที่ไทยมี และสิ่งที่ไทยต้องการ ด้วยการสร้างเทคโนโลยีของไทยเอง

อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2562
  • Share :
  • 808 Reads   

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่หลายต่อหลายคนจับตามอง และจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้าน ซึ่งภาคอุตสาหกรรม เป็นอีกภาคที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลังการเลือกตั้งไม่มากก็น้อย

คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ “อุตสาหกรรมไทยหลังการเลือกตั้ง” ในงานเปิดตัว สำนักข่าวออนไลน์ เอ็ม รีพอร์ต อย่างเป็นทางการ  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยคำถามว่า “ในสมัยก่อน ประเทศไทยอยู่ในระนาบการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอยู่ในระดับเดียวกับไต้หวัน และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังแข่งขันกับประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม อะไรที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาไปในระดับเดียวกับกับประเทศเหล่านี้ ที่เคยมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทยได้?”

คำตอบ คือ เทคโนโลยี

คุณธนากรกล่าวว่า การที่อุตสาหกรรมไทยจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองกันเสียก่อน นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2500 แนวคิดหลักของอุตสาหกรรมไทย คือ การเป็นฐานการผลิตของโลก อย่างไรก็ตาม การเป็นฐานการผลิตในที่นี้ คือการเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นหลัก โดยที่ไทยไม่เคยมีการพัฒนาฐานเทคโนโลยีของไทยให้รองรับกับการผลิต โดยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การผลิตยาง ซึ่งแม้ไทยจะมีการส่งออกยางเป็นจำนวนมาก แต่การแปรรูปยางกลับต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักร และไม่มีการพัฒนาเครื่องจักรสำหรับการแปรรูปด้วยตนเอง ทั้งที่หากสามารถทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองได้ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้

ที่แล้วมา อุตสาหกรรมไทยไม่เคยไต่ยอดคลื่นลูกใหม่ของการพัฒนาเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ซึ่งอุตสาหกรรมไทยทำได้เพียงแต่เป็นฝ่ายตามเท่านั้น ดังนั้น การที่อุตสาหกรรมไทยจะพัฒนาต่อไปได้ สิ่งจำเป็นคือฐานเทคโนโลยีของไทยเอง 

“ผมอยากเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ยึดโยงกับทรัพยากรของเรา การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ยึดโยงกับสิ่งที่ไทยมี และสิ่งที่ไทยต้องการ ด้วยการสร้างเทคโนโลยีของไทย”

คุณธนาธรเชื่อว่า อุตสาหกรรมไทยที่สร้างได้ในทันที และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ในคราวเดียวกันในขณะนี้ คืออุตสาหกรรมรถบัส และอุตสาหกรรมรถไฟ ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันมีศักยภาพเพียงพอจะสร้างแม้แต่รถบัสไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ทางด้านการคมนาคม ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งจะช่วยลดการนำเข้า แทนที่จะนำเม็ดเงินนี้ไปสั่งซื้อจากต่างชาติ ทั้งเชื่อว่ารัฐควรเป็นตัวนำในการพัฒนา 2 อุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่อไป

ซึ่งหากเริ่มลงทุนเทคโนโลยีแบบข้ามสเต็ป แทนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่ประเทศอื่นมีใช้ในปัจจุบัน และอาจจะกลายเป็นเทคโนโลยีล้าหลังในอีก 10 - 20 ปีแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมไทย อาจจะกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีนั้น ๆ ก็เป็นได้

นอกจากนี้ สำหรับในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีทรัพยากรณ์อยู่แล้ว คุณธนาธรมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการลงทุนในเทคโนโลยีเครื่องจักรการแปรรูปพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนา และต่อยอดได้ในอนาคต