“สมคิด” เร่ง ”นิคมไบโออีโคโนมี” อุตฯ เตรียมขยายพื้นที่ส่งเสริม 7 จังหวัด

อัปเดตล่าสุด 28 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 544 Reads   

“สมคิด” สั่งกระทรวงอุตฯเร่งเครื่องอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี เตรียมขยายพื้นที่ส่งเสริมอีก 7 จังหวัด พร้อมตั้งนิคมไบโอใหม่ 2 แห่ง นิคมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา-นิคมไบโอคอมเพล็กซ์ จ.ลพบุรี คาดเม็ดเงินลงทุนสะพัดเกือบ 1 แสนล้าน

หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กระทรวงเร่งเดินหน้ามาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เพื่อพัฒนาต่อยอดพืชเศรษฐกิจ

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงได้เตรียมขยายผลอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในเชิงพื้นที่เพิ่มเติมจากเดิมมีพื้นที่ให้การส่งเสริม 3 จังหวัด (ขอนแก่น กำแพงเพชร และนครสวรรค์) โดยล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอีก 7 จังหวัด เช่น จ.สุราษฎร์ธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ จ.ศรีสะเกษ จ.ฉะเชิงเทรา จ.อุบลราชธานี และ จ.ลพบุรี หลังจากนี้จะวางโมเดลการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเป้าหมาย


โดยพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนพัฒนาไบโอฮับแห่งใหม่ คือ จ.ฉะเชิงเทรา จะมีการตั้ง “โครงการไบโอฮับเอเชีย” และ “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้” มูลค่าการลงทุน 62,500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีเป้าหมายผลักดันภาคเอกชนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการลงทุน “โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์” มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ในส่วนของ จ.อุบลราชธานี เตรียมจะปรับผังเมืองรวมจากสีเขียวเป็นสีม่วง ทำให้บริษัทอุบลไบโอเอทานอล จำกัด สามารถวางแผนขยายโรงงานผลิต Bioproduct เช่น อาหารทางการแพทย์ Organic Maltodextrin และ Organic Sweetener ได้


ทั้งนี้ มาตรการอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ ตามนโยบายกระทรวง ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก คือ 

  1. ขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน เช่น การยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ (ที่ไม่ใช่โรงงานน้ำตาล) ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ระยะห่างภายใน 50 กม.ของโรงงานเดิมได้ การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นได้ 
  2. เร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ปัจจุบันเกิดมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และคาดว่าจะมีการลงทุนไบโอรีไฟนอลรีคอมเพล็กซ์ 41,000 ล้านบาท ในปี 2564 ที่ จ.นครสวรรค์
  3. กระตุ้นอุปสงค์ อาทิ การให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงการคลัง ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 
  4. สร้างเครือข่าย Center of Bio Excellence (CoBe)

 

ทั้งนี้ บีโอไอให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุน โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แต่จะต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีส่วนสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากนี้ ในการประชุมบอร์ด BOI เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เตรียมพิจารณาขยายมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 5 ปี สำหรับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ