กสอ. จัดงาน ID Creator 2019 หวังปั้นนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหน้าใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 511 Reads   

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดกิจกรรม ID Creator ประจำปี 2019 เฟ้นหานักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรุ่นใหม่ เน้นผลิตสินค้านวัตกรรม ผสานความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าสูง เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 50 ชิ้นงาน ด้านรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เชื่อนักออกแบบไทยมีศักยภาพพร้อมแข่งขันระดับสากล หวังเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายจารุพันธ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คือผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการรู้จักเลือกวัสดุ โครงสร้าง กลไก รูปร่าง สี การตกแต่งผิวภายนอกและภายในของผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่ดีที่สุด ประหยัด และง่ายต่อการผลิต เพราะต้องผลิตออกมาเป็นจำนวนมากด้วยกรรมวิธีทางอุตสาหกรรม การพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงาน ID Creator ประจำปี 2562 ขึ้น ภายใต้กิจกรรมสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) เพื่อสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะนักออกแบบรุ่นเยาว์ (Young Designer) ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค 4.0 โดยปีนี้ได้เน้นแนวคิดปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าที่เป็น Mass ไปสู่การผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและมูลค่าสูง (High Value) ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ร่วมกับความคิดเชิงสร้างสรรค์ 

“การจัดงาน ID Creator ในนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มีกลุ่มเป้าหมายหลัก 2 สาขา คืออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ อุตสาหกรรมเครื่องเรือนและผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่อผลักดันและเสริมสร้างศักยภาพของนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรุ่นใหม่ให้ได้รับการพัฒนา ความรู้ ทักษะ ทั้งในด้านกรอบแนวคิด รูปแบบ และประโยชน์ใช้สอย ให้สามารถนำไปประยุกต์ ปรับใช้ได้จริง และสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบและจากการผลิตให้ทันยุคสมัย โดยส่วนตัวเชื่อว่า นักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยจะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมได้อย่างไม่น้อยหน้าใครในอาเซียน และพร้อมจะก้าวไปสู่ระดับเอเชีย รวมถึงระดับโลกในอนาคตได้อย่างแน่นอน” นายจารุพันธ์ กล่าว

สำหรับกิจกรรม Industrial Design ได้เปิดรับสมัครนิสิต นักศึกษาปีที่ 2,3 และ 4 หรือ นิสิต นักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาไม่เกิน 1 ปี ด้านการผลิตและการออกแบบที่มีความประสงค์จะเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จำนวนไม่ต่ำกว่า 50 คน และได้จัดฝึกอบรมหลักสูตร Industrial Design โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายแขนงผ่านหัวข้อการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน เช่น การสร้างสรรค์แนวคิดการออกแบบ (Idea Workshop) การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ผ่านกูรูในวงการ วิธีการแปลงไอเดียออกแบบสู่ Mood Board ได้รับคำแนะนำปรับปรุงต้นแบบ และทดลองขึ้นต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) เป็นต้น จนสามารถคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นมาผลิตเป็นชิ้นงานจริงและต่อยอดเชิงพาณิชย์มากกว่า 50 ชิ้นงานต้นแบบ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับรางวัล ดังนี้ 

สาขาอุตสาหกรรมเครื่องเรือนและผลิตภัณฑ์ไม้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายธนดล พิสิฐาภรณ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน SAK KA RA  ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวพิชชาพร เอื้อกูรศิริ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับผลงาน Flexi Seat ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รางวัลชมเชย ได้แก่ นางสาวขวัญทิพย์ ทองอิ่น กับผลงาน Bassar Chair ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายอัครวินท์ โพธิ์ศรี จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กับผลงาน Save Safe ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายชัชวาล วู้ชัยภูมิ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับผลงาน Ad Astra ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร และรางวัลชมเชย ได้แก่ นายศิริมงคล ชัยดา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จ.ลพบุรี กับผลงานขาตั้งอัตโนมัติ ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัล จะได้รับโอกาสในการไปศึกษาดูงานทางด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น ณ ประเทศเกาหลีอีกด้วย