ธุรกิจ ‘Circular Economy’ ขึ้นแท่นดาวเด่น รับเทรนด์อนาคตโลก สร้างกำไรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เติบโตด้วยความยั่งยืน

ธุรกิจ ‘Circular Economy’ ขึ้นแท่นดาวเด่น รับเทรนด์โลก

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2566
  • Share :
  • 611 Reads   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ธุรกิจไทยประจำเดือนตุลาคม 2566 พบ ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ ‘Circular Economy’ น่าจับตามอง เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้โมเดล BCG ที่เข้ามากำหนดความยั่งยืนของโลกการค้ายุคปัจจุบัน พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นดาวเด่นคือ เป็นธุรกิจที่ตลาดยังเปิดกว้าง การแข่งขันยังไม่สูงมีนิติบุคคลเพียง 1,908 ราย เมื่อพิจารณาจากรายได้ย้อนหลังไป 3 ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นจังหวะที่รอนักลงทุนไทยคว้าโอกาสนี้ รวมถึงภาครัฐและกรมฯ ยังให้การสนับสนุนธุรกิจอย่างเต็มที่ พร้อมรองรับเทรนด์ธุรกิจสีเขียวของโลกที่จะสร้างความมั่งคงให้ธุรกิจในอนาคต

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 - นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันในโลกของการทำธุรกิจผู้ประกอบการไม่สามารถหยุดพัฒนาตัวเองได้ การค้าขายไม่ได้หยุดแค่การแสวงหาผลกำไรที่เป็นเงินเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันแนวคิดด้านธุรกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม (โมเดล BCG) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ประกอบได้ด้วย 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งนี้ เพื่อสร้างการพัฒนาประเทศด้านสังคม เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ขณะนี้โมเดล BCG เข้ามามีบทบาทต่อความยั่งยืนของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ตระหนักถึงการเลือกซื้อสินค้าที่มาจากผู้ผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงคู่ค้าหรือนักลงทุนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยึดหลัก BCG มาใช้ในการผลิตสินค้าด้วย

อธิบดี กล่าวต่อว่า “กรมฯ ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจ ‘Circular Economy’ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (หนึ่งในกลุ่มธุรกิจ BCG) กำลังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและจะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ ในอนาคต ประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด (Zero Waste) กระบวนการผลิตที่ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และพัฒนากระบวนการผลิตจนลดหรือไม่เกิดของเสียในวงจรการผลิตอีกเลย ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อจากขวดน้ำพลาสติก และธุรกิจกำจัดขยะหรือของเสีย”

“ประเทศไทยมีธุรกิจ Circular Economy ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 1,908 ราย คิดเป็น 0.21% ของธุรกิจทั้งหมด มีมูลค่าทุนจำนวน 32,395 ล้านบาท คิดเป็น 0.15% ของธุรกิจทั้งหมด ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 1,544 ราย คิดเป็น 81.45% มูลค่าทุนจำนวน 27,406 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 348 ราย คิดเป็น 18.24% มูลค่าทุนจำนวน 523 ล้านบาท และบริษัทมหาชน จำกัด จำนวน 6 ราย คิดเป็น 0.31% มูลค่าทุนจำนวน 4,466 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2566)”

“สำหรับการลงทุนในธุรกิจนี้ 80% เป็นการลงทุนโดยคนไทย มีพื้นที่จัดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปทุมธานี ตามลำดับ หากพิจารณาผลประกอบการของธุรกิจย้อนหลังไป 3 ปี ระหว่างปี 2563-2565 รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 มีรายได้รวม 40,154 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 58,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.56% จากปีก่อนหน้า และปี 2565 มีรายได้รวม 67,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.18% จากปีก่อนหน้า”

“ธุรกิจ Circular Economy หรือ ธุรกิจ CE ในประเทศไทยถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ ยังอยู่ในช่วง ของการลงทุนกับสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักซึ่งรอผลกำไรตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้วยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากเพราะคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกันยังมีไม่มาก อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายในการสนับสนุนธุรกิจให้หันมาใช้โมเดล BCG ในการพัฒนาธุรกิจ และมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือให้ธุรกิจ BCG ประสบความสำเร็จ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคือ หนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ให้การส่งเสริมธุรกิจ BCG มาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีธุรกิจชุมชน ที่กรมฯ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาสร้างต้นแบบผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนรักษ์โลก DBD SMART Local BCG แล้วจำนวน 88 ราย และยังช่วยขยายตลาดให้ธุรกิจกลุ่มนี้กลายเป็นที่รู้จักและขายสินค้าได้ในวงกว้างด้วย โดยในปี 2566 สร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 60 ล้านบาท และมีแผนที่จะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการชุมชน/วิสาหกิจชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Zero Waste ร่วมกัน ธุรกิจ CE มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายมิติทั้ง ‘ด้านการจ้างงาน’ ที่จะช่วยส่งเสริมให้มีเกิดการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า/บริการ ‘การส่งเสริมการลงทุน’ ธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจกำจัดขยะหรือธุรกิจหมุนเวียนขยะที่ยังมีสัดส่วนธุรกิจต่อการบริหารขยะในประเทศที่ไม่สมดุลจึงเป็นโอกาสของนักลงทุน หรือการส่งเสริมการผลิตสินค้าชุมชน BCG ของผู้ประกอบการชุมชนที่กรมฯ ได้เข้าไปส่งเสริม สร้างจุดขายที่แตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าท้องถิ่นส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและยกระดับสินค้าชุมชนให้มีมาตรฐานระดับโลกด้วย” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ