อีอีซี จับมือ ETDA  ยกระดับการทำธุรกรรมดิจิทัล ดึงผู้ประกอบการลงทุนพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

อีอีซี จับมือ ETDA ยกระดับการทำธุรกรรมดิจิทัล ดึงผู้ประกอบการลงทุนพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

อัปเดตล่าสุด 21 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 2,131 Reads   

อีอีซี จับมือ ETDA ยกระดับการทำธุรกรรมดิจิทัล ส่งเสริมให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ EEC – OSS  เพิ่มแรงจูงใจดึงผู้ประกอบการลงทุนเขตอีอีซี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ อีอีซี และนางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐกุล รองผู้อำนวยการ ETDA เป็นพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม 

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ ETDA ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือสำคัญของ อีอีซี ที่จะผลักดันการพัฒนาให้บริการด้านดิจิทัล สนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อส่งเสริมให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ EEC – OSS ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดขั้นตอนและลดต้นทุนในการประกอบกิจการ เกิดการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รองรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการขุดดิน ถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น  

ทั้งนี้ ภายใต้ MOU นี้ อีอีซี และ ETDA จะได้บูรณาการความร่วมมือทั้งระดับนโยบาย ผู้บริหาร การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือด้านบุคลากรระหว่างหน่วยงาน ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนระบบนิเวศน์ด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และการพัฒนาระบบใบอนุญาตแบบดิจิทัล เพื่อยกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จูงใจผู้ประกอบการให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เกิดการยกระดับการทำงานและการทำธุรกิจด้วยการผนวกกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการส่งเสริม Digital Ecosystem ที่มั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าของ Digital GDP ไทย คือ หนึ่งในภารกิจที่ ETDA เดินหน้าผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญระหว่าง ETDA และ สกพอ. จะได้เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมฯ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคและต้นทุนในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์คทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมีขอบเขตของความร่วมมือที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น  การส่งเสริมและร่วมพัฒนาระบบให้เกิดการใช้งานระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ในการพิสูจน์ตัวตนผู้ประกอบธุรกิจ นักลงทุน ที่เข้ามาติดต่อ ขออนุมัติ อนุญาตและลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ให้มีความสะดวก ลดต้นทุนมากยิ่งขึ้น ผ่านบริการ Digital ID ของหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้าไปเป็นทางเลือกของการใช้งานในพื้นที่อีอีซี ให้มีความหลากหลายขึ้น ตัวอย่าง บริการแอปพลิเคชัน ThaID ของกรมการปกครอง ที่วันนี้มีคนไทยใช้งานแล้วกว่า 12.7 ล้านคน เป็นต้น

และเนื่องจากอีอีซี เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อม ที่จะสะท้อนให้เราได้เห็นระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของการใช้งาน Digital ID ทั้งในมุมของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานและที่ลงทุนในพื้นที่นี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ ETDA และพาร์ทเนอร์จะได้มีการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาและเสนอแนะมาตรฐานเพื่อสนับสนุนบริการ Digital ID สำหรับคนต่างชาติ รวมถึงมาตรฐานการมอบอำนาจกรณีนิติบุคคลในระยะต่อไป ในขณะเดียวกัน ETDA ยังจะเข้าไปช่วยพัฒนาระบบใบอนุญาตแบบดิจิทัล (e-Licensing) ทั้งในมุมของการกำหนดมาตรฐานระบบ e-Licensing ในการใช้งานเอกสารรับรอง (Verifiable Credential) และเอกสารสำแดง (Verifiable Presentation) ที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 40 รายการ เพื่อให้สามารถดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมๆ กับบูรณาการการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือในระดับนโยบาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนความร่วมมือด้านบุคลากรระหว่างหน่วยงาน ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการสนับสนุนระบบนิเวศด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพิ่มมากขึ้น

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

1. ยอดขายรถยนต์ 2566
2. คาร์บอนเครดิต คืออะไร
3. อบรมรถยนต์ไฟฟ้า 2567
4. Apple ครองตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมียมในปี 2023
5. การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายไร้สาย 5G
6. ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 2566
7. สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2566
8. เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
9. กฎหมาย ปล่องระบาย อากาศ
10. solid state battery คือ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH