SMEs เฮทั่วไทย! กระทรวงอุตฯ ใจดี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้

SMEs เฮทั่วไทย! กระทรวงอุตฯ ใจดี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้

อัปเดตล่าสุด 6 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 843 Reads   

รมว.พิมพ์ภัทรา สั่งการ ดีพร้อม ผนึกกำลัง บสย. และ 4 สถาบันการเงิน เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน แจ้งผลภายใน 7 วัน คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8,000 ล้านบาท

6 กุมภาพันธ์ 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเข้าถึงหลักประกันและแหล่งเงินทุน ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินผ่านการช่วยค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ส่งผลให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างอย่างเต็มกำลัง อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ และความท้าทายรอบด้าน

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการก้าวข้ามปัญหา และความท้าทายดังกล่าว คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ทำได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้ออกกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องใช้ทรัพย์สินของกิจการเพื่อค้ำประกันในสัดส่วนที่สูง เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส และทำให้เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินมากเกินความจำเป็นจากการใช้สินเชื่อผิดประเภท  

“กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว และนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งหากลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่เพียงพอกับความต้องการในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ จนส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในระดับประเทศและสากลได้” รมว. กล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ตอบรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. พัฒนากลไกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่าน โครงการ “ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้” ซึ่งมี 4 พันธมิตรสถาบันการเงินเข้าร่วมสนับสนุน สอดรับกับนโยบาย Reshape the Future: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (Reshape the accessibility) ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ สร้างโอกาสและยกระดับขีความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม กับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องผ่านดีพร้อมเพื่อขอรับการพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดย ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้นภายใน 7 วันทำการ ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้วงเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้กระทรวงการคลัง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. โดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน “บสย. F.A. Center” จะช่วยให้ SMEs ที่มีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะรายที่ขาดหลักประกันสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ร่วมกับธนาคารพันธมิตรทั้ง 4 สถาบันการเงิน ภายใต้แนวนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DPROM Connection เชื่อมโยงกับทิศทางการเป็น Digital SMEs Gateway ของ บสย. กับบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงิน (Credit Mediator) เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกันและการให้คำปรึกษาทางการเงิน การปรับแผนธุรกิจ และการแก้หนี้ให้กับ SMEs ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ โดย บสย. F.A.Center

ทั้งนี้ บสย. ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สมัครและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถลงทะเบียน Online เข้าร่วมโครงการผ่าน LINE Official Account @tcgfirst ได้ โดยผู้ประกอบการที่สมัครภายใน 30 วันหลังจากวันที่เปิดรับสมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อพร้อมวงเงินค้ำประกัน 100 รายแรก จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันหรือค่าออกหนังสือค้ำประกันทันที นายสิทธิกร กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH