FTA, FTA Thai Japan ส่งออกไทยไปญี่ปุ่น, ‘พาณิชย์’ ถกเจโทร ดันสินค้าเกษตรสู่ตลาดญี่ปุ่น เพิ่มผลผลิตผ่านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ

‘พาณิชย์’ ถก ‘เจโทร’ ดันสินค้าเกษตรสู่ตลาดญี่ปุ่น เพิ่มผลผลิตผ่านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ

อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 814 Reads   

รมช.พาณิชย์ ถก JETRO กรุงเทพฯ ให้ช่วยสนับสนุน SMEs ไทย ดันนำเข้าสินค้าเกษตรไทยไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง พร้อมจับมือจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่อง FTA หนุนผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออก ด้านญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม พร้อมผลักดันสตาร์ทอัปเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 - นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังหารือกับนายคุโรดะ จุน (KURADA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ หรือ JETRO กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า ตนได้เสนอให้ JETRO กรุงเทพฯ สนับสนุนข้อมูลและความร่วมมือในการผลักดันศักยภาพของ SMEs และผู้ประกอบการไทย เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ให้เกิดความยั่งยืนระหว่างกัน พร้อมทั้งส่งเสริมและผลักดันการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง โดยจัดหาบริษัทสตาร์ตอัปของญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีช่วยจัดเก็บข้อมูลและปรับปรุงการปลูกกล้วยหอมอย่างเป็นระบบและแม่นยำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณผลผลิต รวมทั้งสร้างโอกาสในการส่งออกกล้วยหอมไทยไปตลาดญี่ปุ่น

นายนภินทร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์กับ JETRO กรุงเทพฯ จะร่วมกันจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในการขยายการส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมี FTA ร่วมกัน 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยในช่วงครึ่งปี (ม.ค.-มิ.ย. 2566) ผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ทั้ง 3 ฉบับ รวมกันถึง 77% ของมูลค่าการส่งออกสำหรับสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด หรือ มูลค่า 3,602 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านประธาน JETRO กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นสนับสนุนให้ไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียน และญี่ปุ่นยังมีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งที่เป็นเอกชนรายใหญ่และเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงสตาร์ตอัปของญี่ปุ่นที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยอีกด้วย โดยได้เชิญชวนนักลงทุนไทยไปลงทุนในญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจโรงแรมไปลงทุนในญี่ปุ่นแล้ว จึงหวังว่าทั้งสองประเทศจะขยายการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นพร้อมพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ากับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในไทย การจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และการจัดอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบุคลากรทรัพย์สินทางปัญญาของไทย

“รัฐบาลมีนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่และรักษาตลาดเดิม โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเจรจา FTA กับคู่ค้าใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและให้ไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าและบริการของโลก พร้อมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่” นายนภินทร เสริม

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีมูลค่า 38,210.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 24,656.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 34,477.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์ และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH