มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย เฟส 1 ระยะเวลา 5 ปี จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และเกษตรแปรรูป

ก.อุตฯ ดันแผนพัฒนาอุตฯ เครื่องจักรกล มุ่งสนับสนุนเกษตรแปรรูป ปฏิรูปโครงสร้างศก. ลดการพึ่งพาต่างประเทศ

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 694 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ผลักดัน "มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย" เฟส 1 ระยะเวลา 5 ปี มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศ สร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ยกระดับขีดความสามารถผู้ผลิตเครื่องจักรกลไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการและยกระดับแบรนด์ไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและหันมาใช้เครื่องจักรกลที่ผลิตภายในประเทศแทน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศ สร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ยกระดับขีดความสามารถผู้ผลิตเครื่องจักรกลไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการและยกระดับแบรนด์ไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือ โดยมองว่าประเทศไทยยังมีความต้องการเครื่องจักรกลอยู่มาก จากข้อมูลปี 2562 ประเทศไทยมีการนำเข้าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลคิดเป็นมูลค่ากว่า 415,776.9 ล้านบาท และขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่ากว่า 223,381 ล้านบาท จึงได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่ชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปที่จะช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรให้ขยายตัว

“มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรและแปรรูปการเกษตรเพื่อมุ่งเป็นฐานการผลิตด้านอาหาร และ Bio-based product ที่มีคุณภาพของโลก ประกอบกับผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยมีความสามารถในการผลิตเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมากนักสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีลักษณะการเพาะปลูกพืชในเขตร้อน จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ลดการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูปจากต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ภายในประเทศ” นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย


นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การจัดทำมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลในระยะแรกเป็นมาตรการระยะ 5 ปี จะมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลตามแผน คือ

1)  การกระตุ้นอุปสงค์ ผลักดันให้เกิดการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจระหว่างเอกชนกับเอกชนและเอกชนกับรัฐบาล ยกระดับผู้ประกอบการในการใช้เครื่องจักรกลและบำรุงรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

2) สนับสนุนอุปทาน  สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมสนับสนุนประเภทชิ้นส่วน ยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการให้เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการออกแบบและผลิตเครื่องจักรกลผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องจักรกลสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล

3) เสริมสร้างปัจจัยแวดล้อม เช่น เพิ่มมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนที่เป็นเป้าหมายตามมาตรฐานสากล จัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติหรือสร้างเครือข่ายศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อการตรวจสอบและการออกหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกและการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างฐานข้อมูล (แพลตฟอร์ม) กลางที่รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล รวมถึงการสนับสนุนการระดมทุนรูปแบบคราวด์ฟันดิง สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจดทะเบียน การให้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาบุคคลากรด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรและเกษตรแปรรูปด้วย 

อ่านต่อ