NIA ชี้ 7 วิถีเกษตรนวัตกรรมดาวรุ่ง พร้อมรุกดันการเติบโตสตาร์ทอัพไทยเต็มสูบ

NIA ชี้ 7 วิถีเกษตรนวัตกรรมดาวรุ่ง พร้อมรุกดันการเติบโตสตาร์ทอัพไทยเต็มสูบ

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 866 Reads   

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผย 7 รูปแบบนวัตกรรมการเกษตรเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจทำอาชีพเกษตรกรรม หลังพบช่วงการระบาดโควิด – 19 คนไทยย้ายกลับถิ่นฐาน และหาลู่ทางสร้างอาชีพใหม่ด้วยการประกอบอาชีพด้านเกษตร ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ธุรกิจไบโอรีไฟนารี การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เกษตรดิจิทัล การทำฟาร์มแนวตั้ง เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ บริการทางธุรกิจเกษตร นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพด้านดังกล่าว ทั้งการผลักดันให้เข้าถึงเงินทุนสนับสนุน องค์ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการทำตลาด ฯลฯ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การหมาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด -19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ได้เกิดแรงกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม มีการหยุดชะงักของธุรกิจและปิดกิจการ การลดแรงงานเนื่องจากแรงกดดันของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการเลิกจ้างงานที่คาดว่าจะสูงถึง 7 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีประชากรบางกลุ่มที่ต้องย้ายกลับไปยังถิ่นฐานเพื่อหลีกเลี่ยงวิถีชีวิตในเมืองหลวงที่มีความแออัด ลดความเสี่ยงสูงในด้านสุขภาพ และเพื่อหาลู่ทางสร้างอาชีพใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทำให้ “เกษตรกรรม” เป็นเป้าหมายและเป็นทางเลือกแรก ๆ ที่คนจะนำไปประกอบอาชีพ เนื่องจากเป็นความเชี่ยวชาญที่เป็นต้นทุนของประเทศไทย เป็นธุรกิจที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ทั้งยังสามารถนำความรู้ต่าง ๆ มาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างมูลค่าได้เป็นอย่างดี 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้คนไทยสามารถทำการเกษตรและพัฒนารูปแบบของเกษตรกรรม NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center: ABC Center) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการระดมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายในวงการด้านการเกษตร จัดทำแนวโน้มด้านนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศไทยใน 7 สาขา ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตจากฟาร์มถึงผู้บริโภค การทำเกษตรด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจสามารถนำไปเป็นแนวทางสร้างรูปแบบธุรกิจ รวมถึงการสร้างอาชีพใหม่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแยกเป็น 7 สาขาการเกษตร พร้อมตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรจากทั่วโลกและของประเทศไทย ที่จะใช้เป็นตัวอย่าง และเชื่อมโยงเทคโนโลยีร่วมกันได้ ดังนี้

เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพมาประยุกต์ให้เกิดธุรกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการอาหารปลอดภัย ประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุน โดยมี 4 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ของประโยชน์ไมโครไบโอมของจุลินทรีย์ดินเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตของพืช ผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ การสร้างพืชที่มีคุณลักษณะตามความต้องการโดยการดัดแปลงยีน และการวิเคราะห์ข้อมูลทางชีวภาพขนาดใหญ่

เกษตรดิจิทัล เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ทั่วโลกต้องการเพื่อช่วยสนับสนุนการทำการเกษตร และการก้าวสู่ 5G จะเห็นธุรกิจเรื่องนี้จำนวนมากและเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยมีตัวอย่างเช่น การใช้เซนเซอร์เก็บข้อมูลระดับน้ำที่แปลงนาข้าว โดยเกษตรกรสามารถดูข้อมูลจากที่บ้านได้ผ่านมือถือ เมื่อมีข้อมูลมากเพียงพอก็สามารถทำนายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำขึ้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นความปลอดภัยด้านผลผลิต และนำมาใช้ในการตรวจสบความผิดปกติและข้อมูลย้อนหลังด้านต่าง ๆ เป็นต้น 

การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการทำเกษตรแนวตั้ง หรือ Vertical Farm ที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเขตเมือง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีการพัฒนาขึ้นบ้างแล้วในประเทศไทย รวมไปถึงเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ก็ประกาศนโยบายสนับสนุนการปลูกผักบนดาดฟ้า นอกจากนี้ อีกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นเทรนด์แนวโน้มคือระบบ “ฟาร์มเลี้ยงแมลงแบบปิด” ซึ่งแมลงกำลังจะกลายเป็นโปรตีนทดแทนของเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ โดยมีตัวอย่างเช่น YNsec สตาร์ทอัพชาวฝรั่งเศสที่มีระบบการเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่ด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชม. ด้วยกำลังผลิต 20,000 – 25,000 ตันต่อปี

เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แม้ว่าตอนนี้จะมีแรงงานกลับถิ่นฐาน และมีคนสนใจทำเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ต้องมีแนวทางในการดึงดูดให้คนหันมาทำการเกษตรด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดแรงงาน สามารถทำการเกษตรได้เหมือนเกมส์ปลูกผักโดยมีระบบต่าง ๆ ช่วยสนับสนุน เช่น การใช้หุ่นยนต์มาช่วยดูขั้นตอนต่าง ๆ แทนมนุษย์ ดังเช่นตัวอย่างของสตาร์ทอัพของอิสราเอล “อารักกา” ที่ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกที่ใช้ในการผสมเกสรในโรงเรือน โดยมี AI ที่จะบอกได้ว่าดอกไม้มีความพร้อมสำหรับการผสมเกสรดอกไม้เมื่ออุณหภูมิและระดับความชื้นเหมาะสม ทั้งนี้  สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีหุ่นยนต์ไปใช้งาน ส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ใช้โดรน เช่นสตาร์ทอัพไทยเทวดา คอร์ป ที่นำโดรนไปใช้ในการปลูกข้าวได้อย่างแม่นยำสามารถเพิ่มผลลิตได้ถึงสองเท่า

บริการทางธุรกิจเกษตร ในช่วงการระบาดโรคโควิด – 19 เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน และมีความจำเป็นต้องสั่งสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์ทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซ และระบบขนส่งอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และช่วยในการส่งสินค้าอาหาร – เกษตรแบบเร่งด่วน นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องพัฒนาบริการที่ตอบสนองกับความต้องการของเกษตรกรและผู้ค้าควบคู่กันไปด้วย เช่น ระบบการจองอุปกรณ์การเกษตร ที่คล้ายคลึงกับการจองรถเพื่อการเดินทางที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ระบบการประมูลสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของตลาด และระบบเชื่อมโยงผลผลิตทางการเกษตรกับโรงงานอุตสาหกรรมหรือร้านอาหารเพื่อให้การผลิตและการค้าขายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากเนื่องจากสินค้าเกษตรเมืองร้อนของไทยมีผิวเปลือกบาง ทำให้ง่ายต่อการเน่าเสีย และเก็บรักษายาก ดังนั้นสิ่งที่ควรเร่งสร้างธุรกิจนี้ ได้แก่ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยืดอายุและเก็ยรักษาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการที่ไม่ใช้สารเคมี ตลอดจนการติดตามและตรวจสอบคุณภาพผลผลิตอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายผลิต เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศด้วยโอโซนที่สามารถควบคุมผลไม้เปลือก การใช้สารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้ได้นานขึ้น

ธุรกิจไบโอรีไฟนารี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (cell factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์
 
“NIA พร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไปแก้ไขปัญหาการเกษตรของประเทศ โดยจะสามารถสนับสนุนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสนับสนุนนวัตกรรม องค์ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการทำตลาด การผลักดันกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
 
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร : ABC center สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand