ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, ภาษี ev 2565, ภาษี ev ใหม่, ภาษี ev 0, ภาษี รถ ev, ภาษีรถจักรยานยนต์, ภาษีรถยนต์, กรมสรรพสามิต, กระทรวงการคลัง

ครม. ลุยสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าจัดเต็มทุกมิติ เคาะแล้ว!! ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 100% และอื่น ๆ อีกเพียบ

อัปเดตล่าสุด 23 ก.พ. 2565
  • Share :
  • 1,977 Reads   

ครม. เห็นชอบมาตรการภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตทั้งหมวดรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบตามที่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตเสนอให้พิจารณามาตรการภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถสันดาปภายในมาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

     ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, ภาษี ev 2565, ภาษี ev ใหม่, ภาษี ev 0, ภาษี รถ ev, ภาษีรถจักรยานยนต์, ภาษีรถยนต์, กรมสรรพสามิต, กระทรวงการคลัง   
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 นั้น กรมศุลกากรได้ดำเนิน มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ดังนี้    

1. เสนอร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (Completely Buildup :CBU) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับการนำเข้ารถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

1.1 ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท

(1) การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิมร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 40
(2) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
(3) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรอีก 40%
1.2 ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 - 7 ล้านบาท
(1) การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิมร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 60
(2) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
(3) ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรอีก 20%

2. ดำเนินการศึกษาและพิจารณามาตรการส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างประกาศกระทรวงการคลัง อันมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 การยกเว้นอากรชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว

2.2 การผลิตหรือประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี ให้มีการนับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV)

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้เสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ดังนี้

1. การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น

2. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV ซึ่งมีการพิจารณาถึงสมรรถนะของเทคโนโลยี PHEV ในเรื่องระยะทางการวิ่งด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Range : ER) โดยสามารถวิ่งได้ไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และขนาดถังบรรจุน้ำมัน (Oil Tank) เพื่อลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน

3. การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 พ.ศ. 2571 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตราร้อยละ 8 เหลืออัตราร้อยละ 2 เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

4. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์กระบะ และอนุพันธ์ของรถยนต์กระบะ (Product Champion) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตต่อไป โดยคำนึงถึงการลดการปล่อย CO2 และสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทดแทน Biodiesel และยังส่งเสริมให้เกิดการใช้และผลิตรถยนต์กระบะไฟฟ้า (BEV) ในประเทศโดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราวจนถึงปี พ.ศ. 2568

5. การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภท ยังสนับสนุนมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยให้มีการติดตั้งระบบ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) มาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 2 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ และรถยนต์กระบะ ต้องมีการติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 1 ระบบจาก 6 ระบบ ยกเว้น BEV ต้องมีอย่างน้อย 2 จาก 6 ระบบ
        
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2569 และ พ.ศ. 2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะเดียวกัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 1 จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ดังนี้

1. ต้องใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป

2. ต้องมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน WMTC        

3. ต้องใช้ยางล้อที่ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 หรือที่สูงกว่า หรือ UN Regulation No.75 หรือที่สูงกว่า

4. ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L: คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952-2561 หรือ UN Regulation No.136 หรือที่สูงกว่า หรือเอกสารรับรองการผ่านมาตรฐานนี้ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH