อุตฯ ร่วม กทม. ดีเดย์ลงพื้นที่ตรวจ 40 โรงงานเสี่ยงสูง-แออัด ป้องโควิด

อุตฯ ร่วม กทม. ดีเดย์ลงพื้นที่ตรวจ 40 โรงงานเสี่ยงสูง-แออัด ป้องโควิด

อัปเดตล่าสุด 21 มิ.ย. 2564
  • Share :
  • 609 Reads   

ก.อุตสาหกรรม ร่วม กทม. ดีเดย์หลัง 15 มิ.ย. ลงพื้นที่ตรวจสอบ 40 โรงงานแรกจากกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูง-แออัด คนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป หลัง “สุริยะ” สั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งประสานโรงงานในกำกับทำแบบประเมินตนเองผ่าน Platform online ตามมาตรการ Good Factory Practice (GFP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน และลดความรุนแรงของการระบาด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วิกฤตการณ์แพร่ระบาด ของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการ รับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงฯ ดูแลขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้กำชับ ไปยัง กรอ.ให้เร่งประชาสัมพันธ์พร้อมขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ประเมินตนเองผ่านแบบประเมินตนเอง Thai Stop Covid plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564

“ผมได้สั่งการให้ กรอ.เร่งสำรวจตัวเลขพร้อมทั้งกำชับให้โรงงานอุตสาหกรรมร่วมทำแบบประเมินตนเอง Thai Stop COVID Plus (Good factory Practice, GFP) และ Thai Save Thai ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาขึ้น โดยแพลตฟอร์มแนะนำด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดฯ แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ขณะที่พนักงานก็ต้องประเมินตนเอง ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Save Thai ก่อนเข้าโรงงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่เชื้อในสถานประกอบการ” นายสุริยะฯ กล่าว

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า กรอ.ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการคัดเลือกโรงงานเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีจำนวนคนงานมากกว่า 200 คน ซึ่งมีจำนวน 278 โรงงาน จำแนกเป็นโรงงานที่มีคนงาน 200 – 500 คน จำนวน 206 โรง โรงงานที่มีคนงาน 500 – 1,000 คน จำนวน 40 โรง และโรงงานที่มีคนงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 32 โรง เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารหรือแปรรูปอาหาร โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานอื่นๆ

“หลังวันที่ 15 มิถุนายน กลุ่มเป้าหมายแรกที่ กรอ. ร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 40 โรงงานโดยคัดเลือกจากโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และโรงงานที่มีความแออัดในพื้นที่ปฏิบัติงานก่อน โดยเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหาร หรือการแปรรูปอาหารทุกขนาด จำนวน 12 โรง และโรงงานที่มีความแออัดเนื่องจากมีจำนวนคนงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 28 โรง” นายประกอบฯ กล่าว

และนอกจากการทำแบบประเมินดังกล่าวแล้ว ทางกรอ.ยังได้จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติแผนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับสถานประกอบกิจการ (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อให้แต่ละโรงงานเตรียมรับมือและเตรียมความพร้อมในการประคองกิจการให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้แม้ในยามวิกฤตหรือฉุกเฉิน โดยการกำหนดแนวทาง ดังนี้

1.จัดตั้งทีมบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan Team) โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 1 คน เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการความต่อเนื่องของธุรกิจ

2.ระบุวิกฤติหรือเหตุฉุกเฉินและผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการ อย่างน้อย 5 มิติ อาทิ อาคารและสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีและข้อมูลสำคัญ บุคลากรและทรัพยากรทางการเงิน และคู่ค้า/ผู้ให้บริการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

3.วางกลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อเป็นแนวทางจัดหาและบริหารทรัพยากรให้มีความพร้อมเมื่อเกิดวิกฤต

และ 4. ฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผนบริหารความต่อเนื่อง โดยโรงงานอุตสาหกรรมควรฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  อยู่เสมอ รวมถึงปรับปรุงแผนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ ให้ทันสมัยและสามารถรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

 

อ่านข่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพิ่มเติม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH