EEC - GBA ลุยจับคู่ธุรกิจไทย-จีน เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพสูง

EEC - GBA ลุยจับคู่ธุรกิจไทย-จีน เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพสูง

อัปเดตล่าสุด 29 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 1,357 Reads   

EEC ผนึกกำลังร่วมกับ เขตความร่วมมือกวางตุ้ง - ฮ่องกง – มาเก๊า (GBA) ชูยุทธศาสตร์ชักชวนการลงทุน มุ่งสร้างโอกาสทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือทางธุรกิจภาคเอกชนไทยและจีน รวม 10 โครงการ อาทิ ความร่วมมือในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาระดับอาชีวะ โลจิสติกส์ อาหารและยา เป็นต้น  

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษภายในงาน ประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) และไทย หรือ China (Guangdong) – Thailand Economic Cooperation Conference ซึ่งจัดโดย รัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง หรือ CCPIT โดยมีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหวัง เว่ย โจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชนของทั้งประเทศไทย และประเทศจีน เข้าร่วมงานฯ ณ โรงแรมแชงกรี ล่า กรุงเทพฯ 

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) และไทยครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และเขตความร่วมมือกวางตุ้ง - ฮ่องกง – มาเก๊า (GBA) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นต้น โดยประเทศจีน นับเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทยมายาวนาน และมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งด้านการค้าการลงทุนที่สนับสนุนซึ่งกันและกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือ EEC ของไทย กับ GBA ของจีน ครั้งนี้ จะสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ EEC กับ GBA จะร่วมมือกันส่งเสริมและสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งการค้าและการลงทุน โดยในส่วนของ EEC ได้วางยุทธศาสตร์และกรอบความร่วมมือไทย - จีน ได้แก่ การเชื่อมต่อ EEC และ GBA  ขยายการค้าการเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนจีน และการศึกษาระดับอาชีวศึกษา 

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลกในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในการขับเคลื่อน EEC ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยมั่นใจว่า การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญนำไปสู่การสร้างความร่วมมือ
ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในทุกมิติ” เลขาธิการฯ อีอีซี กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน และไทยฯ ยังมีการลงนามความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของไทยกับจีน (Signing Ceremony) ซึ่งได้มีการจับคู่ทางธุรกิจรวมกว่า 10 โครงการ อาทิ ความร่วมมือในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมอาหารและไบโอ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และบริการ เพื่อเป็นก้าวสำคัญสร้างความร่วมมือระหว่าง EEC และ GBA สู่ความสำเร็จและยั่งยืนต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH