ต่างชาติลงทุน EEC โครงสร้างพื้นฐาน

4 ปี EEC เร็วกว่าเป้า ต่างชาติลงทุน 1.7 ล้านลบ. โครงสร้างพื้นฐานหลักครบ

อัปเดตล่าสุด 25 พ.ค. 2565
  • Share :
  • 2,350 Reads   

อีอีซี เปิดความสำเร็จ 4 ปี เร็วกว่าเป้า ผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครบ ดึงต่างชาติลงทุนกว่า 1.7 ล้านลบ. ต่อยอดใช้ 5G สร้างคน-ชุมชน-โรงงานอัจฉริยะ 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดงาน “4 ปี อีอีซี ภารกิจขับเคลื่อนไทย เชื่อมทุกมิติอย่างยั่งยืน” โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี นำผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านต่างประเทศ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี และดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน ร่วมกันเสวนา เปิดความสำเร็จการทำงานของอีอีซี ซึ่งได้เกิดความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ จากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และความร่วมมือที่ดีจากเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน 
ทั้งนี้ ผลสำเร็จการทำงานของอีอีซี ในรอบ 4 ปี มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ผลักดัน PPP ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักครบ ดึงทุนเอกชน ลดภาระงบประมาณ

อีอีซี ได้ผลักดันโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ 4 โครงการหลัก (รถไฟความเร็วสูงฯ - สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง) เกิดการลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนสูงถึง 655,821 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐลงทุนเพียง ร้อยละ 36 แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 440,193 ล้านบาท ทำให้ประเทศก้าวสู่การพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ประหยัดเงินงบประมาณของรัฐ เกิดความร่วมมือภาคเอกชนไทย เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพ ให้คนไทยมีรายได้ดีมั่งคงยั่งยืน โดยการลงทุนรูปแบบ PPP ยังได้ สร้างต้นแบบ โปร่งใสรัดกุุม ตรวจสอบได้ ประเทศได้ประโยชน์สูงสุุด

ความก้าวหน้าต่อไป โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จะส่งมอบพื้นที่จนครบ 100% และเอกชนได้เข้าลงทุนตามแผน เช่น งานปรับพื้นที่ งานสร้างถนนและสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง และก่อสร้างต่อเนื่องใช้เวลา 4 ปี        โดยส่วนเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2569 โครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ส่วนภาครัฐ งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จสมบูรณ์ งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 ก้าวหน้า 85%  และเอกชนคู่สัญญาได้เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้เริ่มต้นการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F โดยทั้ง 4 โครงการหลัก อีอีซี ขอยืนยันว่า จะร่วมมือกับเอกชนอย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย เดินหน้าก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามแผน ประโยชน์สูงสุดให้คนไทยทุกคน 

2. ส่งเสริมพันธมิตรทางธุรกิจ ดึงเอกชนระดับโลกลงทุน วางแผนต่อเนื่อง 5 ปี ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง 

บทบาทสำคัญของอีอีซี ได้สร้างความเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ โดยการลงทุนในระยะที่ 1 อีอีซี ทำได้สำเร็จเร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ใช้เวลาเพียง 4 ปี (2561-2564) อนุมัติการมูลค่าการลงทุน ได้กว่า 1,722,720 ล้านบาท ใช้งบประมาณรัฐเพียง 5% จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก (2561-2565) เป็นการลงทุนจาก 

1) โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก มูลค่ารวม 654,921 ล้านบาท 

2) การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ประมาณการจากบัตรส่งเสริมลงทุนบีโอไอ) มูลค่า 985,799 ล้านบาท จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการออกบัตรฯ อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ ท่องเที่ยว และการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการแพทย์มีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 517% ทั้งนี้ 5 ลำดับประเทศที่ลงทุนสูงในพื้นที่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และสวิสเซอร์แลนด์ 

3) การพัฒนาพื้นที่ผ่านแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานกว่า 30 แห่ง มูลค่า 82,000 ล้านบาท เกิดการใช้งบประมาณพัฒนาพื้นที่คุ้มค่าสูงสุด 

ความก้าวหน้าต่อไป อีอีซี ได้วางแผนลงทุนระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565 – 2569) ขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง วิจัยพัฒนาเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า EV ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซี เพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนา และคนไทยมีรายได้สูงขึ้นได้ในปี 2572 

3. ต่อยอดใช้ 5G เร็ว แรง ชัด ขับเคลื่อนนวัตกรรมขั้นสูง สร้างคน ชุมชน โรงงานอัจฉริยะ

การใช้ 5G ในพื้นที่อีอีซี ได้ติดตั้งสัญญาณครบ 100% ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการใช้ 5G อย่างกว้างขวาง โดยต่อยอดพัฒนาในภาคการผลิต สู่อุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาในระดับชุมชน และด้านการจัดการข้อมูลเพื่อต่อยอดธุรกิจ ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ได้ผลักดันให้ ชุมชนบ้านฉาง ก้าวสู่ smart city เกิดศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง

บ้านฉาง (EEC Tech Park) มูลค่าลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าก่อสร้างในเฟสแรกภายในปี 2567 และในพื้นที่เมืองพัทยา ได้วางโครงสร้างพื้นฐานเสา 5G ไปแล้วกว่า 100 เสา อยู่ระหว่างขยายเพิ่มเติมเพื่อให้พัทยาก้าวสู่ smart city เช่นกัน รวมทั้งในปี 2565 จะนำร่องต้นแบบ EEC Common Data Lake นำข้อมูล Data platform ภาครัฐและเอกชน ใช้ประโยชน์เพื่อต่อยอดธุรกิจ คาดว่าในภาพรวมทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้ประโยชน์เพิ่ม 5 เท่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อเสาสาย 2 แสนล้านบาท 

ความก้าวหน้าต่อไป จะเร่งผลักดันให้โรงงานในอีอีซี เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม 4.0 เกิดการใช้ระบบหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่นอย่างแพร่หลาย คาดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้กว่า 30% โดยปัจจุบันได้เริ่มทำแล้วกว่า 40 โรงงาน และจะเพิ่มเป็น 200 โรงงาน (ขนาดใหญ่ 20% ขนาดกลาง 30% SME 50%) ภายในปีนี้ และภายในปี 2568 โรงงานกว่า 6,000 แห่งใน อีอีซี จะก้าวสู่โรงงานอัจริยะ รวมทั้งการเร่งสร้างบุคลากรเข้ามารองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง โดยร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น หัวเว่ย ซิสโก้ เป็นต้น ซึ่งได้ตั้งเป้าภายใน 4 ปี จะสามารถพัฒนาทักษะบุคลากรในอีอีซี (New Skill, Up-Skill, Re-Skill) ในด้าน 5G, ดิจิทัล, Network ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 คน 

4. พัฒนาด้านสังคมเต็มกำลัง เศรษฐกิจชุมชนก้าวหน้า ประชาชนสุขใจ

อีอีซี ได้เดินหน้าพัฒนาด้านสังคม ผ่านแนวคิด 5 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างรัฐสวัสดิการ สร้างเครือข่าย และสร้างการเข้าถึงสถาบันการเงิน  โดยได้ดำเนินการใน 5 โครงการนำร่อง ได้แก่

1) การพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ สู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมาตรฐานโลก คู่การเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำ โดยศึกษาและออกแบบใหม่เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้ดี ให้มาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

2) การพัฒนา Wellness Center ผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อีอีซี เป็นศูนย์กลางพื้นที่ดูแลสุขภาพด้วยเทคนิคการแพทย์สมัยใหม่

3) การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน พัฒนาด้านการบริหารจัดการ สร้างเครือข่าย เพื่อส่งเสริมสินค้าโอทอปและบริการในพื้นที่ให้ตอบสนองต่อความต้องการตลาดมากขึ้น

4) การร่วมกับ 7 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ สนับสนุนบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อประชาชน ผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และฟื้นเศรษฐกิจภายหลังโควิด 19 โดยได้ให้บริการทางการเงินในพื้นที่อีอีซีไปแล้ว 37,637 ราย เป็นวงเงินรวม 17,245 ล้านบาท และให้บริการค้ำประกัน 66,019 ราย วงเงินรวม 84,367 ล้านบาท และ 5) แผนพัฒนาการเกษตร เป็นต้นแบบการใช้ตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลิตให้เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) รักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ แก้ไขผลผลิตล้นตลาด รวมถึงจัดเตรียมห้องเย็น ยืดอายุผลผลิต คงความสดและรสชาติผลไม้ ให้เกษตรกรเกิดรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  

ความก้าวหน้าต่อไป อีอีซี จะยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองที่ทันสมัยรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้ จำนวนรายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชน (GDP) เพิ่มขึ้นมากว่า 20% วิสาหกิจ ธุรกิจชุมชน มีโอกาสเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน  

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH