การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone : SEZ)

ฟื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กนอ.อัดโปรพิเศษลดค่าเช่า-เพิ่มอุตใหม่

อัปเดตล่าสุด 23 มิ.ย. 2563
  • Share :
  • 743 Reads   

“กอบชัย” ประธานบอร์ด กนอ. สั่งปรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว นักลงทุนขอทำ “รีไซเคิลขยะ” ลุ้น สผ.ไฟเขียว EIA เร่งระดมมาตรการอุ้มทั้งผู้พัฒนา-ผู้ประกอบการในนิคม อัดโปรโมชั่นลดค่าเช่ากระตุ้นการลงทุนครึ่งปีหลัง พร้อมจี้ สบค.พิจารณาต่างชาติ 200 คนกลับมาทำงานในโรงงาน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ว่า หลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ดเมื่อเดือน พ.ย. 2562 ได้กำหนดแนวนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้สอดรับกัน แต่ด้วยขณะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการลงทุน ดังนั้น มติบอร์ดที่ประชุมจึงได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการปรับเป้าหมายบางส่วนให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น

โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone : SEZ) ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีนักลงทุนสนใจน้อย แต่ กนอ.จะต้องเดินหน้าต่อใน 3 พื้นที่หลัก คือ สระแก้ว สงขลา และตาก ทั้งการใช้มาตรการเยียวยา ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยการออกมาตรการส่งเสริมการจองเช่าที่ดิน เป็นโปรโมชั่นพิเศษ และชะลอการปรับขึ้นค่าเช่า/ซื้อออกไปก่อน สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียง ประเทศกัมพูชาจะมีการเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

เนื่องจากมีนักลงทุนที่สนใจตั้งโรงงานอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะ แต่ติดปัญหาที่ไม่ใช่กิจการที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด บอร์ดจึงมีความพยายามที่จะปรับแก้ให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ โดยจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รอความเห็นชอบจากทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อน จากเดิมในสระแก้วมีเป้าหมายจะสนับสนุนกิจการถึง 12 ประเภทกิจการ อาทิ เกษตรและอาหารแปรรูป โลจิสติกส์สิ่งทอเครื่องนุ่มห่ม เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วยังจัดโปรโมชั่นยกเว้นค่าเช่าที่ดินในปีแรก นับจากวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดิน รวมถึงยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรก นับจากวันทำสัญญาเช่าที่ดิน โดยมีเงื่อนไขต้องมีระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปีแต่ไม่เกินระยะเวลา 30 ปี และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขอื่น ๆ ที่ กนอ.กำหนด รวมทั้งต้องทำสัญญาเช่าที่ดินภายในวันที่ 31 ส.ค. 2563

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับด่านชายแดนไทย (สะเดา)-มาเลเซีย (ปาดังเบซาร์) มีนักลงทุนมาเลเซียและจีนสนใจในกิจการแปรรูปยาง แต่ภายหลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจึงสั่งให้ชะลอการขึ้นค่าที่ดิน และปรับอัตราค่าเช่าที่ดินใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกภายในวันที่ 31 ส.ค. 2563 ผู้สนใจจองเช่าที่ดินสามารถชำระค่าจองเช่าที่ดินเพียง 10,000 บาท/พื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือชำระ 50% ของค่าจองเช่าที่ดินในอัตราปกติในวันที่ทำสัญญาจอง(แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งที่ต่ำกว่า) ส่วนที่เหลือสามารถแบ่งชำระได้ไม่เกิน 3 งวด ภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาจอง โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จัดให้มีการแบ่งจ่ายค่างวดลักษณะนี้

ส่วนช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2563-วันที่ 31 มี.ค. 2564 งวดแรกชำระ 50% ของค่าจองเช่าที่ดินในอัตราปกติในวันที่ทำสัญญาจอง โดยส่วนที่เหลือสามารถแบ่งชำระได้ไม่เกิน 3 งวด ภายในระยะเวลา1 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญาจองโดยไม่มีดอกเบี้ย หากนักลงทุนสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ครบถ้วน จะได้รับมาตรการส่งเสริมการเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสงขลาเพิ่มเติม ซึ่งจะได้รับ 1.ยกเว้นค่าเช่า 3 ปีแรก นับจากวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดิน 2.ส่วนลดค่าเช่าที่ดิน 25% ในปีที่ 4 ของค่าเช่าในปีนั้น และ 3.ยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการ

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้แม้ว่าความคืบหน้าน้อยมาก เพราะยังติดปัญหาเรื่องของพื้นที่ แต่ได้วางแผนงานทั้งหมดไว้แล้ว ที่ต้องดำเนินการต่อให้เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากจะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อกับเมืองเมียวดี ของประเทศเมียนมา ซึ่งเหมาะที่จะเป็นอุตสาหกรรมแพ็กเกจจิ้ง

นายกอบชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมบอร์ด กนอ. ซึ่งจะมีขึ้นช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ ตนจะกำชับการทำงาน กนอ.ให้เร่งดำเนินงานส่วนสำคัญ คือ พื้นที่แหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เอ็กซอนโมบิลให้ความสนใจ มาตรการเยียวยาลดค่าเช่าในนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม การตั้งบริษัทลูกเพื่อนำน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดป้อนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ขณะนี้กำลังทำผล

การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (FS) คาดใช้เวลา 3-4 เดือน ติดตามผลการหารือกับทางศูนย์ประสานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)เพื่อให้ช่วยพิจารณาให้ชาวต่างชาติกลับเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ตามเดิม ซึ่งขณะนี้มีกว่า 200 คนที่ยื่นเรื่องขอเข้ามาโดยเฉพาะญี่ปุ่น ล่าสุด สบค.รับเรื่องไว้แล้ว

อ่านต่อ: 
“นิคมฯ สงขลา” พร้อมเปิดตุลาคมนี้ คาดมูลค่าลงทุนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท