NIA ร่วม ธ.ก.ส. หนุนสินเชื่อไร้ดอกเบี้ย 3 ปี พัฒนา “AgTech” ในภาคเกษตร ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG

‘NIA-ธ.ก.ส.’ หนุนสินเชื่อไร้ดอกเบี้ย 3 ปี พัฒนา “AgTech” ในภาคเกษตร

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 694 Reads   
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA พร้อมด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. หนุนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรให้กับธุรกิจชุมชน ผู้ประกอบการภาคเกษตรและวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก พร้อมจัดทำโครงการนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และ NIA รับชำระดอกเบี้ยแทน 3 ปีแรกสูงสุดถึง 5 ล้านบาทต่อโครงการ พร้อมตั้งเป้าสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและพัฒนาภาคเกษตรไทย อย่างยั่งยืน
 
นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า NIA และ ธ.ก.ส. ได้บูรณาการในการทำงานร่วมกันมา อย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตให้กับเกษตรกร ธุรกิจชุมชน ผู้ประกอบการภาคเกษตรและ Startup รวมถึงผลักดันให้เกิดธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตรและการพัฒนาทรัพยากรการเกษตรร่วมกับการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางความร่วมมือจะเน้นพัฒนาหลักสูตรการบ่มเพาะธุรกิจชุมชนที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สร้างการเปลี่ยนแปลงจากเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต สอดคล้องกับนโยบายเกษตร 4.0 และการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
 
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” ให้กับผู้ประกอบการภาคเกษตรหรือผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและ Startup นำไปใช้ในการพัฒนาต้นแบบหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตได้จริงหรือพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตรหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม   ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน MLR + 2% (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) โดย NIA จะเป็นผู้สนับสนุนด้านดอกเบี้ยด้วยการชำระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินดอกเบี้ยสูงสุด ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการอีกด้วย
 
“ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.และ NIA ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้างและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 2 ตัวอย่างผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด โครงการสถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสครบวงจรด้วยวิธีการผลิตแบบ Cellular Manufacturing ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านรูปแบบธุรกิจและบริการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสแบบครบวงจร โดยการแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของบริษัท ได้แก่ นักวิจัย วัตถุดิบเครื่องเทศ และเครื่องจักรประกอบกับการใช้วิธีการผลิตแบบ Cellular Manufacturing ซึ่งเน้นการผลิตขนาดเล็ก แต่เร็ว และยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสรสชาติใหม่ ๆ ได้ในราคาถูก รวดเร็ว สามารถขยายกำลังการผลิตได้ โดยรสชาติไม่ผิดเพี้ยน ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการและลดความเสี่ยงให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี และ 2) บริษัท  ดำเนินฟู้ด จำกัด โครงการเครื่องบรรจุวุ้นมะพร้าวอินทรีย์แบบอัตโนมัติพร้อมอุโมงค์ลดอุณหภูมิแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศที่ใช้ระบบการดึงความร้อนผ่านตัวผลิตภัณฑ์ ที่สามารถลดอุณหภูมิจาก 80-90 องศาเซสเซียส เหลือ 50-55 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 10-20 นาที ซึ่งช่วยลดการเกิดฟองอากาศบริเวณผิวหน้าของวุ้น และเพิ่มกำลัง การผลิตได้ถึง 3 เท่าต่อวัน อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบและส่วนผสมจากธรรมชาติ คือ ตัววุ้นผลิตจากสาหร่ายแดงและผงบุกผสมกับน้ำมะพร้าวอินทรีย์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกมะพร้าวอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว”
 
 
ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเกษตร และ โครงการนวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย ในครั้งนี้ NIA และ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ กระตุ้น สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดันธุรกิจนวัตกรรม เพื่อเอื้อให้การเกษตรของประเทศไทยมุ่งสู่การเกษตรแนวใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร การพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร และการพัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรและความมั่งคั่งด้านอาหาร
 
สำหรับการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมผ่านโครงการนวัตกรรมดี... ไม่มีดอกเบี้ยนั้น NIA จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้ประกอบการนวัตกรรม ในวงเงินสนับสนุนดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้รับผิดชอบวงเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นการร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้างและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ NIA และ ธ.ก.ส. ยังร่วมกันสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง Startup ด้านการเกษตรกับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME และสถาบันเกษตรกร ให้เข้าถึงการรับรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างโอกาสการขยายผลนวัตกรรมการเกษตรสู่การใช้งานจริงของเกษตรกรไทย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็งในการพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรของไทยให้ยืนอยู่ได้ในสถานการณ์โลกที่ผันแปร ทั้งยังเป็นเครื่องมือและอาวุธสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมการเกษตรไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสการเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านเกษตรกรไปสู่ Smart Farmer สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือSEP to SDG ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมของการเกษตร (AgTech Transformation) ของประเทศได้อย่างยั่งยืน
 
“การผลักดันให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมและ Startup ด้านการเกษตรถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่ NIA ให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าจะประชากรหลายล้านคนของประเทศจะอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งเกษตรกร SME Startup หรือบริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เท่าที่ควร ทำให้ธุรกิจที่มาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการและทำให้การเกษตรไทยเติบโตได้ในระดับปานกลางเท่านั้น ถัดมาคือต้องการสร้างธุรกิจที่ตรงกับโจทย์ความต้องการด้านการเกษตรของแต่ละพื้นที่ เช่น การเกษตรแบบแม่นยำ ธุรกิจหรือ Startup ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิต หรือแม้แต่กระทั่งลดปัญหาความไม่แน่นอนของสภาวะทางธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ปัญหาของภาคเกษตรยังมีอีกจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับ Startup หรือคนที่สนใจให้สามารถหยิบนำปัญหาที่มีอยู่มากมายเหล่านี้มาต่อยอดเป็นธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมุ่งหวังที่จะพลิกโฉม หรือปรับภาพจากด้านการเกษตรแบบเดิม ๆ ที่คุ้นตากันเพียงในเรื่องของการเพาะปลูก การแปรรูป การผลิตสินค้าขั้นกลางต่อยอดไปสู่การผสมผสานกับแนวคิดธุรกิจที่มีความสร้างสรรค์ หรือบริการที่มีความเป็นนวัตกรรม ซึ่งหากทำได้มากขึ้นอุตสาหกรรมเกษตรไทยก็จะมีการเติบโต และสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่ผ่านมามากขึ้นเช่นกัน” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand
 
 
อ่านต่อ: